Home Isolation กักตัวที่บ้านอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อตนเองและคนรอบข้าง

Tags:
Home Isolation กักตัวที่บ้านอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อตนเองและคนรอบข้าง

จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดรุนแรงมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลหลายพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นผู้ป่วยสีเขียวจึงเป็นกลุ่มที่ควรดูแลตัวเองที่บ้าน เพื่อลดภาระเตียงเต็ม

 

“ผู้ป่วยสีเขียว” คือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ถ่ายเหลว ไม่มีอาการหายใจเร็ว ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย ไม่มีอาการหายใจลำบาก ไม่มีปอดอักเสบ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือโรคร่วมสำคัญ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวนี้สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ แต่จะดูแลตนเองอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น

 

วันนี้เรามาเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับโควิด-19 กัน ด้วยเคล็ดลับกักตัวที่บ้านอย่างปลอดภัยไม่แพร่เชื้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

  1. เว้นระยะห่างจากคนในครอบครัวและผู้สูงอายุ โดยอยู่แต่ในห้องส่วนตัว และไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  2. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  3. ดื่มน้ำสะอาด และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  4. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หลังจากใช้เสร็จแล้วควรทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ทุกครั้ง
  5. ล้างมือเป็นประจำทุกครั้ง ก่อน-หลัง รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ และไอจาม
  6. ทำความสะอาดสิ่งของที่มีการใช้ร่วมกันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ
  7. หากจำเป็นต้องเจอผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

และเมื่อเข้าสู่การรักษาแบบ Home Isolation แล้ว ควรจะได้รับยาสามัญเพื่อรักษาอาการโควิดเบื้องต้น ดังนี้

 

  1. ยาพาราเซตามอล : ควรทานเมื่อมีอาการไข้ หรืออุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 37 องศาเซลเซียส 
  2. ยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก : ควรทานเท่าที่จำเป็น เพราะยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้นานเกือบ 24 ชั่วโมง และทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้
  3. ยาแก้ไอหรือยาน้ำแก้ไอ : หากมีเสมหะร่วมด้วย ควรรับประทานยาที่ช่วยละลายเสมหะร่วมกับยารักษาอาการไอแห้ง
  4. ผงเกลือแร่หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ : ควรเตรียมไว้เผื่ออาเจียนหรือท้องเสีย น้ำเกลือแร่จะช่วยชดเชยการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุในร่างกายได้
  5. ยารักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ (ถ้ามี) :  ควรมียาประจำตัวสำรองไว้ 1-2 เดือน เพื่อลดการเดินทางไปโรงพยาบาล และเผื่อกรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปรับยาได้
  6. ยาฟ้าทะลายโจร : ยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางการแพทย์ใช้บรรเทาอาการไข้หวัดและเจ็บคอ ควรทานในปริมาณที่ระบุเอาไว้ตามฉลากหรือปรึกษาแพทย์ก่อน ทั้งนี้ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะจะทำให้ตับและไตทำงานหนัก

 

ยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมี ช่วง Home Isolation | Telepharmacy ใน 1 นาที

 

นอกจากการเตรียมตัวรับมือแล้ว ต้องคอยสังเกตุอาการของตนเองด้วย หากมีอาการแย่ลง เช่น หอบเหนื่อย แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลทันที หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 1668 กรมการแพทย์, 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน, 1646 ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์เอราวัณ), 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น 

 

ผู้เขียน

ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ 

เภสัชกร 

 

อ่านอะไรต่อดี ? 

11 ไอเทมต้องมีช่วงกักตัว Home Isolation

วิธีอยู่บ้านหยุดเชื้อ ไม่ให้เบื่อจนสติแตก !

ทำความสะอาดบ้าน ให้ปลอดภัยจากโควิด-19

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ

 

บทความการดูแลสุขภาพ