ไขข้อข้องใจ ครีมกันแดด SPF ยิ่งสูงยิ่งดี จริงหรือ ?

ไขข้อข้องใจ ครีมกันแดด SPF ยิ่งสูงยิ่งดี จริงหรือ ?

เวลาไปเลือกซื้อครีมกันแดด หลายคนอาจเลือกที่ยี่ห้อ คุณภาพ หรือตัวเลข SPF แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ค่า SPF นั้นแท้จริงแล้วมันคืออะไร ? ยิ่งตัวเลขสูงแปลว่าประสิทธิภาพยิ่งดีขึ้นใช่หรือเปล่า ? แล้วเราควรเลือกซื้อครีมกันแดดแบบไหนถึงจะตอบโจทย์และเหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด บทความนี้มีคำตอบให้แล้ว 

 

SPF และ PA ในครีมกันแดด คืออะไร ? 

ก่อนอื่นเรามารู้จักตัวย่อภาษาอังกฤษตัวนี้กันก่อน SPF นั้นย่อมาจาก Sun Protection Factor เป็นค่าที่ใช้แสดงถึงความสามารถในการป้องกันรังสี UVB จากแสงแดด (รังสีจากดวงอาทิตย์มีทั้ง UVA และ UVB) โดยตัวเลขที่ตามหลังค่า SPF นั้นจะแสดงถึงระยะเวลาในการปกป้องผิวจากรังสี UVB ยิ่งตัวเลขมากยิ่งปกป้องผิวจากแสงแดดได้นานขึ้น 

ส่วนอีกค่าหนึ่งที่มักมาพร้อม SPF ก็คือ PA (Protection grade of UVA) โดยเจ้าตัวนี้ทำหน้าที่ช่วยป้องกันรังสีในส่วนที่ PA ป้องกันไม่หมด เนื่องจาก SPF นั้นป้องกันได้แค่รังสี UVB เพียงอย่างเดียว ส่วน PA เป็นตัวที่ช่วยป้องกันรังสี UVA นั่นเอง ส่วนเครื่องหมาย + ที่ตามหลังนั้นก็หมายถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ยิ่ง + มากยิ่งประสิทธิภาพสูง

 

SPF ยิ่งสูงยิ่งดี ... จริงหรอ ?

จริงอยู่ว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงจะช่วยปกป้องผิวเราจากแสงแดดได้นานขึ้น แต่การเลือกครีมกันแดดนั้นไม่ควรดูเพียงค่า SPF เพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วยว่าเหมาะสมกับการใช้งานของเราหรือไม่ เช่น 

  • หากทำงานออฟฟิศ หรือทำงานในร่มแทบไม่โดนแดดเลย ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 10 - 15 ก็เพียงพอ
  • ควรทาครีมกันแดดก่อนออกนอกอาคารประมาณ 15 - 30 นาที บริเวณหน้าและคอ ให้ใช้ครีมประมาณ 2 ข้อนิ้ว
  • หากต้องทำงานกลางแดด มีเหงื่อออกมาก หรือโดนน้ำบ่อย ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 - 3 ชั่วโมง 
  • ใช้อุปกรณ์กันแดดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กางร่ม ใส่หมวก ใส่เสื้อแขนยาว-กางเกงขายาว เป็นต้น 

 

ครีมกันแดด ใช้บ่อยมีผลเสียไหม ? 

แม้ว่าครีมกันแดดจะช่วยปกป้องผิวของเราจากแสงแดดก็จริง แต่ตัวครีมกันแดดก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน หากทาครีมกันแดดบ่อยเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ตัวอย่างเช่น 

  • เกิดคราบครีมกันแดดติดตามเสื้อผ้า (เฉพาะครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของกรดอะมิโนเบนโซอิก หรือกรดพาราอะมิโนเบนโซอิก)
  • กระตุ้นให้เกิดสิว
  • ทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นผื่นแดง หรือทำให้ผิวแพ้ง่าย
  • ทำให้ผิวหนังผลิตวิตามินดีได้น้อยลง  

 

ขอบคุณภาพจาก Freepik 

 

อ่านอะไรต่อดี ? 

โรคลมแดด ภัยร้าย ถึงตายช่วงหน้าร้อน

ท้องเสีย ต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม ?

5 วิธีกำจัดห่วงยางรอบเอว (Love Handles) อย่างได้ผล

บทความการดูแลสุขภาพ