ท้องเสีย ต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม ?

ท้องเสีย ต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม ?

ท้องเสียเป็นอาการป่วยที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่มีปัญหาหนึ่งที่ยังมีคนสงสัยและเข้ามาถามเภสัชกรอยู่เป็นประจำนั่นก็คือ “ถ้ามีอาการท้องเสีย จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม ?” คำตอบของคำถามนี้นั้น ต้องดูว่าอาการท้องเสียเกิดจากอะไร เพราะแต่ละสาเหตุจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้ 

 

ท้องเสียแบบไหน รักษายังไง 

ท้องเสียฉับพลันเป็นความผิดปกติของการถ่ายอุจจาระที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนหากรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งจะเรียกว่าท้องเสียเมื่อมีการถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติมากกว่า 3 ครั้งใน 1 วัน รวมถึงอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยตามสาเหตุของการท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจคงอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ โดยอาการท้องเสียเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้าเป็นการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ Shigella นอกจากถ่ายเหลวแล้ว จะมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดร่วมด้วย เกิดจากการที่เชื้อโรคเข้าไปทำให้เยื่อบุลำไส้เกิดการอักเสบ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งเราเรียกท้องเสียแบบนี้ว่า บิดไม่มีตัว การรักษาจะใช้ยาปฎิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ตัวยา Norfloxacin, Ciprofloxacin, Azithromycin เป็นต้น
  • การติดเชื้อไวรัส ส่วนมากจะเกิดได้ในเด็กจากการติดเชื้อ Rotavirus ที่ปนเปื้อนมากับอาหาร หรือติดเชื้อเวลาที่เด็กเอามือใส่ปาก โดยมักมีอาการปวดท้อง อาเจียน มีไข้สูง ถ่ายเหลวเป็นฟอง มีกลิ่นเปรี้ยว อาการท้องเสียแบบนี้จะใช้ดูแลตามอาการ ให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำซึ่งอาจทำให้ช็อคได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฎิชีวนะ
  • การติดเชื้อโปรโตซัว จะทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายกะปริดกะปรอย ถ่ายเป็นมูกเลือด เวลาถ่ายอุจจาระออกมาจะมีกลิ่นคล้ายหัวกุ้งเน่า มักเกิดจากการติดเชื้อที่ชื่อว่า E. histolytica รักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะที่ชื่อว่า Metronidazole ติดต่อกัน 5 – 10 วัน แต่เนื่องจากยามีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • สารพิษจากเชื้อโรค หรือที่เราเรียกกันว่าอาหารเป็นพิษ ท้องเสียประเภทนี้มักมีอาการอาเจียนเด่นชัด ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง โดยอาการมักเกิดพร้อม ๆ กันในกลุ่มคนที่รับประทานอาหารร่วมกัน การรักษาอาการนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ต้องชดเชยสารน้ำให้เหมาะสมด้วยการจิบเกลือแร่ และอาจใช้กลุ่มสารดูดซับร่วมด้วย เช่น ผงถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) ดินขาว (Kaolin) เป็นต้น  

 

นอกจากนี้ กรณีของผู้ที่ท้องเสียฉับพลันอาจเลือกใช้ยาที่มีส่วนประกอบเป็น Bismuth Subsalicylate เพื่อช่วยยับยั้งการหลั่งสารน้ำในทางเดินอาหาร ทำให้ขับถ่ายเป็นก้อนมากขึ้น ลดอาการอักเสบของผนังทางเดินอาหาร และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีความจำเป็นบางอย่าง เช่น ต้องเดินทาง อาจเลือกใช้ยา Loperamide เพื่อช่วยหยุดการถ่ายอุจจาระ โดยต้องระวังให้มากหากการถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด และมีการติดเชื้อ แต่หากท้องเสียต่อเนื่องเกิน 14 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม

 

ภญ.กมลชนก ไทยเรือง
ภ.43404
ผู้เขียน

บทความการดูแลสุขภาพ