ปลดล็อคปัญหานิ้วล็อค จบปัญหากวนใจชาวออฟฟิศ

ปลดล็อคปัญหานิ้วล็อค จบปัญหากวนใจชาวออฟฟิศ

หลายคนคงเจอกับปัญหานิ้วล็อคกันมาบ้าง ไม่เพียงแค่ในคนทำงานในออฟฟิศเท่านั้นที่จะเจอ แต่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสายงานก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะการทำงานยุคใหม่ส่วนใหญ่อยู่บนอินเตอร์เน็ต ต้องพิมพ์คีย์บอร์ดทั้งวัน ถือสมาร์ทโฟนโทรคุยกับลูกค้านานเป็นชั่วโมง ต้องขยับเมาส์เป็นเวลานาน กิจกรรมทั้งหมดล้วนทำให้เรามีอาการนิ้วล็อคได้ค่ะ วันนี้เภสัชกรจะพาไปรู้จักกับอาการนิ้วล็อคกันให้มากขึ้น พร้อมแนะนำวิธีการรักษาให้ทุกคนได้ทราบกัน

 

สาเหตุนิ้วล็อค

นิ้วล็อค เกิดจากการที่ต้องขยับนิ้วเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว จึงทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี มีอาการสะดุดเมื่อขยับนิ้ว งอนิ้ว เหยียดนิ้ว หรืองอนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม 

 

อาการนิ้วล็อค 

อาการนิ้วล็อคสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได่แก่ 

  • ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
  • ระยะที่ 2 มีอาการสะดุดเมื่อกำมือหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้อยู่
  • ระยะที่ 3 กำมือแล้วเกิดอาการนิ้วล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มืออีกข้างมาช่วยง้างออก
  • ระยะที่ 4 ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีอาการข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย

 

รักษานิ้วล็อคอย่างไรดี ?

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ทำการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ นิ้วมือ ไม่หิ้วของหนักเกินไป หากต้องใช้งานนิ้วมืออย่างต่อเนื่อง ควรพักมือเป็นระยะ และหลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ การบิดผ้าให้แห้งหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือ 
  2. รับประทานยา ที่มีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวด บวม อักเสบ และพักการใช้งานของมือ
  3. ฉีดยากลุ่มเสตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ ลดอาการบวมของเส้นเอ็น แต่การใช้วิธีนี้จะทำให้อาการดีขึ้นในระยะสั้น ๆ เท่านั้น และสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ในระยะเวลาไม่นาน 
  4. ผ่าตัด โดนการดัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาให้เปิดกว้าง เพื่อช่วยให้เส้นเอ็นสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่ติดขัด

 

ปล่อยไว้ไม่รักษา… ระวังนิ้วล็อคถาวร ! 

ปกติแล้วอาการนิ้วล็อคจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่หากปล่อยให้มีอาการนิ้วล็อคเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอยู่ในระยะที่ 3 หรือระยะที่ 4 อาจทำให้ข้อติดถาวร แม้ว่าจะทำการรักษาแล้วก็ตาม

 

นิ้วล็อคเป็นอาการที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็น จากการใช้งานหนักเกินไป ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงกันนะคะ หรือหากใครหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ  อาจหาเวลาพักการใช้งานนิ้วมือเป็นระยะ ๆ และบริหารกล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ นิ้วมือ ระหว่างทำงานหรือหลังเลิกงาน ด้วยความห่วงใยจากเภสัชกรฟาสซิโน ดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ

 

 

ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร

 

อ่านอะไรต่อดี ? 

11 อาหาร พิชิตข้อเสื่อม ลดปัญหาข้ออักเสบ

5 สัญญาณเตือน ข้อเข่าเสื่อม รู้ทันป้องกันได้

วิธีลดปัญหาเรื่องกระดูกพรุน กระดูกหัก ก่อนวัยชรา

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง

บทความการดูแลสุขภาพ