รู้ไว้ปลอดภัยกว่า! ยานอนหลับ กับข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจ

รู้ไว้ปลอดภัยกว่า! ยานอนหลับ กับข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจ

ยานอนหลับเป็นตัวเลือกที่หลายคนนึกถึงเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากความเครียดเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต หรือมาจากสาเหตุอื่นก็ตาม ถึงแม้ยานอนหลับจะช่วยให้เราหลับได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่มันก็มาพร้อมผลเสียมากมายซึ่งบางครั้งผลข้างเคียงจากยา อาจอันตรายถึงชีวิต แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาจริง ๆ ก็ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าใช้ยานอนหลับอย่างไรให้ปลอดภัย โดยดูได้จากบทความนี้

 

ขั้นตอนรักษาปัญหานอนไม่หลับ

ขั้นตอนในการรักษาปัญหานอนไม่หลับจะเริ่มต้นด้วยวิธีไม่ใช้ยาก่อน ด้วยการขจัดเหตุปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับออกไป ร่วมกับการปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนอย่างเหมาะสม ส่วนการใช้ยานอนหลับนั้นไม่ได้ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ เพียงแค่ช่วยให้อาการทุเลาลงขณะใช้ยาเท่านั้น หากพยายามแก้ไขสาเหตุรวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จึงจะพิจารณาใช้ยานอนหลับร่วมด้วย



ผลข้างเคียงของยานอนหลับ

การใช้ยานอนหลับอาจทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่หากใช้ยาผิดวิธีหรือรับประทานต่อเนื่องนานเกินไปอาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ เช่น 

  • การใช้ยานอนหลับในระยะยาว อาจส่งผลให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • หากหยุดใช้ยาทันทีอาจส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และกังวลได้
  • ยานอนหลับบางชนิดออกฤทธิ์ยาวนาน แม้กระทั่งตื่นนอนแล้วก็อาจทำให้ยังรู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย หรือมึนงง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร

 

ใช้ยานอนหลับอย่างไรให้ปลอดภัย

  1. การใช้ยานอนหลับจะใช้เพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้การตอบสนองกับยาลดลง ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้นอนหลับได้ และยังอาจทำให้เกิดการติดยาได้อีกด้วย
  2. การใช้ยานอนหลับจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาเกินขนาดจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองที่ควบคุมการหายใจ เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  3. การใช้ยานอนหลับควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และผู้สูงอายุ เพราะยาอาจสะสมในร่างกายได้มากขึ้น และทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าปกติ
  4. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงผู้ที่ใช้ยาออกฤทธิ์กดประสาท ส่วนผู้ที่ใช้ยานอนหลับ ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปเสริมฤทธิ์กัน อาจกดการหายใจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  5. หากจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ ควรทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงการนอนให้ดีและมีคุณภาพ โดยจัดบรรยากาศในห้องนอนให้นอนสบายและเหมาะกับการนอน ไม่มีสิ่งรบกวน เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา จำกัดเวลานอนให้เหมาะสมย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมง
  6. หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดสูบบุหรี่

 

หากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวเป็นประจำ ก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและนอนหลับได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาอีก แต่หากใช้ยานอนหลับแล้วเกิดความผิดปกติหรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นเมื่อหยุดใช้ยานอนหลับก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย 

 

ภญ.เกวลิน ตั้งจิตบรรเจิด

ผู้เขียน


บทความที่เกี่ยวข้อง


สอบถามปัญหาสุขภาพ โรคภัยใกล้ตัว วิธีการใช้ยา กับเภสัชกรที่มีประสบการณ์ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

telepharmacy fascino


บทความการดูแลสุขภาพ