น้ำประปาเค็ม อันตรายหรือไม่ แก้ปัญหาอย่างไร ?

Tags:
น้ำประปาเค็ม อันตรายหรือไม่ แก้ปัญหาอย่างไร ?

เนื่องจากเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง และเกิดปรากฏการณ์ยกตัวของน้ำทะเลที่ปากอ่าวไทยสูงกว่าปกติ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย ซึ่งต้องใช้ในการรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยาตามปกติ รวมไปถึงกิจกกรรมการใช้น้ำในด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำมาช่วยผลักดันน้ำเค็มได้อย่างเต็มที่ หากปล่อยน้ำจำนวนมาก อาจจะทำให้มีน้ำใช้ไม่เพียงพอในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564

การประปานครหลวง (กปน.) ได้แจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูง จนทำให้ในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล น้ำมีรสชาติกร่อยเค็มจนรู้สึกได้ โดยเฉพาะในช่วงต้น-กลางกุมภาพันธ์ และอาจยาวนานไปถึงฤดูฝนต่อไป น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และนนทบุรีบางส่วน จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากรับน้ำจากเขื่อนแม่กลองมาผลิตน้ำประปา จึงแนะนำแนวทางการป้องกันดังนี้

บริโภคได้สำหรับคนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงควรระวัง

น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัย ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เพียงแต่ทำให้ดื่มลำบากขึ้น เช่น น้ำแข็งเกิดความเค็มจนดื่มน้ำอัดลมไม่อร่อยเหมือนเดิม, ก๋วยเตี๋ยวเค็มแบบไม่ต้องปรุง หรือ ชา-กาแฟเกิดรสเค็ม แต่ยังไม่ถึงอันตรายกับสุขภาพ

ปริมาณความเค็มที่พบในช่วงนี้ในน้ำประปาที่มีรสชาติกร่อย ถือว่าน้อยมาก เฉลี่ยประมาณแก้วละ 35 มิลลิกรัม น้อยกว่ามาตรฐานที่ควรได้รับโซเดียมประมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

กรณีกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ควรเลี่ยงการบริโภคน้ำประปาในช่วงนี้

ต้มน้ำเค็มอันตราย ยิ่งกร่อยกว่าเดิม

การต้มน้ำไม่ช่วยให้น้ำจืดลง เนื่องจากสิ่งที่ระเหยไป คือ น้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย ผลจากการต้มน้ำ ยิ่งทำให้สัดส่วนความเค็มสูงขึ้น ยิ่งเค็มกว่าเดิมจนรู้สึกได้

การลดความเค็ม จำเป็นต้องใช้เครื่องกรองน้ำที่มีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) เท่านั้น ซึ่งมีราคาสูงกว่าเครื่องกรองทั่วไปที่ใช้ตามบ้านเรือนส่วนใหญ่

วิธีทำให้น้ำประปาหายเค็ม

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) แนะนำวิธีแก้ปัญหาความเค็มจากน้ำประปา เอาไว้ 3 วิธี ซึ่งเป็นวิธีที่ดีสุดในการทำให้น้ำหายเค็ม

  1. การกลั่น (Distillation) สามารถกำจัดทั้งคลอไรด์และของแข็งที่ละลายน้ำได้
  2. การกรองด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) สามารถกำจัดคลอไรด์โดยการใช้แรงดันน้ำผ่าน membrane ระบบ RO นี้ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารต่าง ๆ ออกจากน้ำโดยเฉพาะสารที่มีขนาดเล็กมาก เช่น โซเดียมไอออนและคลอไรด์ไอออน
  3. Deionization หรือขบวนการขจัดไอออน สามารถกำจัดคลอไรด์โดยการดูดซับด้วย anion-exchange resin ซึ่งสามารถดูดซับแอนไอออนตัวอื่นได้ด้วย เช่น ซัลเฟต ถ้ามีซัลเฟตในน้ำตัวดูดซับจะจับกับซัลเฟตได้ดีกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซับคลอไรด์ลดลง

การต้ม (Boiling) การดูดซับด้วยคาร์บอน (Carbon Adsorption Filters) และ Water Softener ไม่สามารถกำจัดคลอไรด์ได้

ทั้ง 3 วิธี ถือว่าค่อนข้างยากสำหรับครัวเรือนทั่วไป อย่าง เครื่องกรองน้ำ RO ที่ราคาสูง, การกลั่นให้ได้น้ำบริสุทธิ์ ใช้เวลานานและได้ปริมาณน้ำน้อย ส่วนวิธี ขจัดไอออน ก็ต้องใช้ความรู้ที่มาก

ติดตามข่าวสารจาก กปน.

ทั้งนี้ น้ำประปาไม่ได้มีรสชาติกร่อยตลอดทั้งวัน แค่เกือบทั้งวัน อาจ 10 - 19 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นไปตามปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง มีช่วงเวลาที่เป็นน้ำจืดสามารถรองน้ำไว้ดื่มได ส่วนช่วงเวลาอื่นสามารถนำน้ำมาทำกิจกรรมภายในบ้านนอกเหนือจากการบริโภคได้ เช่น ทำความสะอาดบ้าน อาบน้ำ ซักผ้า

ประชาชนสามารถติดตามคาดการณ์คุณภาพน้ำประปาได้ทุกวัน ในเวลาประมาณ 9.00 และ 16.00 น. ผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียล ทุกช่องทางของ กปน. หรือโทร 1125 ประชาชนสามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ฟรี ซึ่งเป็นน้ำประปารสชาติปกติ ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านท่าน

บทความการดูแลสุขภาพ