โควิดสายพันธุ์มิว อันตรายที่ต้องจับตา

โควิดสายพันธุ์มิว อันตรายที่ต้องจับตา

ขึ้นชื่อว่าไวรัส ย่อมมีจุดเด่นด้านการกลายพันธุ์ที่รวดเร็ว ซึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีจุดเด่นดังกล่าวนั้นด้วย โดยในปัจจุบันหนึ่งในโควิดสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกกำลังจับตามองเป็นพิเศษก็คือสายพันธุ์ที่ชื่อว่า “มิว” เชื้อโควิดสายพันธุ์นี้น่ากลัวอย่างไร ทำไมถึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อ่านได้ในบทความนี้ 

 

รู้จักโควิดสายพันธุ์มิว

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (รหัส B.1.621) ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบียในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา และได้กระจายไปในประเทศอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ในปัจจุบันโควิดสายพันธุ์มิวแพร่ระบาดในประเทศโคลัมเบียเป็นสัดส่วนมากถึง 39% และในประเทศเอกวาดอร์ 13% และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สัดส่วนทั่วโลกเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ยังมีอยู่เพียง 0.1% เท่านั้น 

 

โควิดสายพันธุ์มิว น่ากลัวอย่างไร 

สิ่งที่ทำให้เชื้อไวรัสตัวนี้มีความน่ากลัวก็คือ จากแถลงการขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีข้อบ่งชี้ว่าโควิดสายพันธุ์มิวอาจมีคุณสมบัติในการหลบเลี่ยงภูมิคุมกันได้ ซึ่งอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

หมายความว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจน จำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป

 

โควิดสายพันธุ์มิว มาถึงไทยหรือยัง ?

ช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2564 ในไทย สำหรับประเด็นที่ว่า โควิดสายพันธุ์ “มิว” นี้มาถึงไทยหรือยัง ล่าสุด นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ปัจจุบันเชื้อไวรัสโควิดที่ระบาดเป็นหลักอยู่ในประเทศไทยตอนนี้คือสายพันธุ์เดลตา แต่ยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวในประเทศไทยแต่อย่างใด 

 

วิธีป้องกันโควิดสายพันธุ์มิว  

แม้ว่าเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์มิวอาจดูน่ากังวลก็จริง แต่ว่ามันก็ยังเป็นเชื้อโควิด-19 ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถรับมือได้เหมือนกับการป้องกันโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงแหล่งชุมชน และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร เท่านี้ก็ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงได้มาก

 

บทความสุขภาพแนะนำ

 

ที่มาภาพ: Freepik

 

บทความการดูแลสุขภาพ