การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดูเหมือนจะเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ ซึ่งในปัจจุบันนั้นวัคซีนโควิดมีหลายชนิด แตกต่างกันตั้งแต่เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต รวมไปถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับวัคซีนโควิดแต่ละชนิดกันว่าแต่ละชนิดนั้นมีรายละเอียดอย่างไร
วัคซีนโควิดมีกี่ชนิด
วัคซีนโควิดในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด แต่ละชนิดก็จะใช้เทคโนโลยี วิธีการผลิต และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
1. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)
วัคซีนชนิดนี้จะเป็นการผลิตด้วยเทคโนโลยีเก่า แบบที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนป้องกันโปลิโอ โดยจะเป็นการนำเชื้อไวรัสมาเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนให้ได้ปริมาณมาก จากนั้นนำไปทำให้เชื้อโควิดตาย แล้วจึงนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสได้ทุกส่วน แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ฉีดเพราะเชื้อไวรัสตายแล้ว
- ข้อดี: เป็นวิธีดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดอันตรายน้อย
- ข้อเสีย: ผลิตช้า ต้นทุนค่อนข้างสูง เห็นผลเมื่อฉีด 2 เข็ม
ตัวอย่างวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ : Sinovac, Sinopharm
2. วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant Viral Vector Vaccine)
วัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้จะเป็นการนำไวรัสที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมได้มาใช้เป็นพาหะ เช่น ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) โดยการนำไวรัสดังกล่าวมาดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ และใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เข้าไปด้วย เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อไวรัสโควิด-19 แต่วัคซีนชนิดนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะถึงแม้ไวรัสจะผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมมาแล้ว แต่ก็เป็นไวรัสที่ยังมีชีวิต จึงอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วย
- ข้อดี: เก็บรักษาง่ายในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
- ข้อเสีย: คนอายุน้อยอาจแสดงอาการแพ้รุนแรง
ตัวอย่างวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ : Astrazeneca, Johnson & Johnson, Sputnik V
3. วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA Vaccine)
เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยการสังเคราะห์สารพันธุกรรม (mRNA) ที่เฉพาะเจาะจงกับไวรัสโควิด-19 เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย ตัววัคซีนจะพา mRNA เข้าสู่เซลล์ และทำให้เซลล์สร้างสารโปรตีนสไปค์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งโปรตีนชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านไวรัสโควิด-19
- ข้อดี: ประสิทธิภาพสูง ผลิตได้เร็ว
- ข้อเสีย: ต้องเก็บในอุณหภูมิระดับติดลบที่ต่ำมาก
ตัวอย่างวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ : Pfizer, Moderna
4. วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine)
วัคซีนชนิดนี้จะเป็นการสร้างโปรตีนของไวรัสขึ้นมาโดยอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ หรือพืช แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัสโควิด-19 วัคซีนชนิดนี้ ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนอีกหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
- ข้อดี: เกิดภูมิคุ้มกันได้ดี
- ข้อเสีย: ใช้เวลาผลิตมาก
ตัวอย่างวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ : Novavax
ปัจจุบันมีอีก 2 ประเภท ที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองและอาจพูดถึงมากขึ้นในอนาคต
- DNA Vaccine คือ วัคซีนที่ออกแบบชิ้นส่วน DNA ด้วยวิธีสอดแทรกยีนที่สร้างแอนติเจนเข้าไป และใช้วิธีฉีดทางกล้ามเนื้อ หรือผิวหนัง เพื่อให้แสดงออกเป็นโปรตีนแอนติเจนที่ต้องการได้ เช่น ZyCoV-D
- VLP Vaccine (Virus Like Particle) คือ วัคซีนอนุภาคคล้ายไวรัส เช่น Icosavax: IVX-411
สุดท้ายนี้ก่อนจะไปฉีดวัคซีนทุกครั้ง อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้เรียบร้อย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลหากมีโรคประจำตัวหรือมียาที่ใช้อยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนโควิดห่างจากวัคซีนชนิดอื่น 4 สัปดาห์ และหากเป็นไข้หรือมีอาการป่วย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อความปลอดภัยในการฉีดวัคซีน
บทความแนะนำ
- สรุปสั้นๆ เรื่องโควิดสายพันธุ์ โอไมครอน
- จุดเด่นของวัคซีน mRNA ที่ต้องการเพื่อรับมือโควิดกลายพันธุ์
- 16 ข้อเท็จจริง ตอบปัญหาคาใจ ก่อนวัคซีนโควิด โดยแพทย์ 3 โรงพยาบาลใหญ่
- สรุปสั้นๆ เรื่องวัคซีน ซิโนฟาร์ม ต่างจาก ซิโนแวค อย่างไร
- ผลข้างเคียงหลังฉีด AstraZeneca และแนวทางในการป้องกัน
- รวมเรื่องที่ควรทราบก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19