10 อาหารอันตรายต่อคนท้อง 

10 อาหารอันตรายต่อคนท้อง 

เมื่อต้องรับบทเป็นคุณแม่มือใหม่ป้ายแดง สิ่งที่หลายคนสนใจและหาข้อมูลเป็นอันดับแรก ๆ คือเรื่องโภชนาการ อย่างเรื่องอาหารบำรุงครรภ์ อาหารบำรุงน้ำนม หรืออาหารเสริมที่ควรรับประทานเพิ่มเติม เพื่อความแข็งแรงของทั้งแม่และลูกน้อย เตรียมของหลังคลอด แต่บางคนอาจลืมประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งไปว่า มีอาหารบางชนิดที่คนท้องไม่ควรรับประทาน เพราะการได้รับสารอาหารบางอย่างมากเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพและเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

 

อาหารไม่สุก ไม่สะอาด 

อย่างที่ทราบกันดีว่า อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ หรืออาหารที่ไม่สะอาดนั้นเสี่ยงต่อการมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่แล้ว เช่น เนื้อหมูดิบ ปลาดิบ หอยนางรมสด เป็นต้น การรับประทานอาหารดังกล่าวจึงเสี่ยงต่อเชื้อโรคหลายชนิดซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งตัวคุณแม่เองและทารกน้อยในครรภ์ได้

อาหารไม่สุก ไม่สะอาด 

เครดิต : Freepik

 

อาหารทะเลบางชนิด

ปลาทะเลบางชนิดมีสารปรอทปริมาณมากปะปนอยู่ เช่น ปลาทูน่า ปลาอินทรี ปลาฉลาม เป็นต้น แต่โอเมก้า 3 โปรตีน และสารอาหารต่าง ๆ ในปลาทะเลล้วนมีประโยชน์ต่อทารกในครรภ์ คุณแม่จึงควรเลือกรับประทานอาหารทะเลชนิดอื่นที่มีสารปรอทปะปนเพียงเล็กน้อยแทน เช่น ปลาแซลมอน ปลากระตัก ปลาซาร์ดีน เป็นต้น แต่ควรรับประทานไม่เกิน 2 - 3 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ได้รับสารปรอทมากเกินไป 

อาหารทะเลบางชนิด

เครดิต : Freepik

 

ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ 

ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ (Unpasteurized) อย่างนมวัวดิบและชีส เป็นอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคหลายชนิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ได้ เช่น การติดเชื้อลิสทีเรีย เชื้อซาลโมเนลลา เชื้ออีโคไล เป็นต้น ดังนั้นสตรีมีครรภ์จึงควรรับประทานนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อเชื้อโรคต่าง ๆ 

ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ 

เครดิต : Freepik

 

เครื่องในสัตว์

เครื่องในสัตว์อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น เหล็ก, วิตามินเอ, วิตามินบี 12, ซีลีเนียม, ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ทั้งสิ้น แต่เรื่องที่ควรระวังคือ การบริโภควิตามินเอมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (3 เดือนแรก) อาจส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิดหรือเกิดการแท้งลูกได้

เครื่องในสัตว์

เครดิต : Freepik

 

ไข่ดิบ 

การรับประทานไข่ดิบนั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียร ท้องเสีย เป็นไข้ ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้ปวดเกร็งมดลูกจนส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย นอกจากต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่ดิบแล้ว อาหารบางเมนูที่มีส่วนผสมของไข่ดิบก็ควรเลี่ยงด้วย เช่น ไข่คน มายองเนส น้ำสลัดบางชนิด เป็นต้น 

ไข่ดิบ 

เครดิต : Freepik

 

ต้นอ่อนพืชบางชนิด

ต้นอ่อนของพืชบางชนิด เช่น ถั่วงอก ต้นอ่อนทานตะวัน หรือแรดิช เป็นต้น มีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อโรคบางชนิดอย่างเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้ ดังนั้นจึงควรปรุงต้นอ่อนพืชดังกล่าวให้สุกก่อนรับประทานเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย 

ต้นอ่อนพืชบางชนิด

เครดิต : healthbenefitstimes.com

 

ผักและผลไม้ที่ไม่ได้ล้าง

การรับประทานอาหารที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดหรือไม่ได้ผ่านการปรุงสุกล้วนเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค ไม่เว้นแม้แต่ผักและผลไม้ โดยเชื้อโรคที่อาจปะปนอยู่ในผักและผลไม้มีหลายชนิด เช่น เชื้อซาลโมเนลลา เชื้อท็อกโซพลาสมา กอนดิไอ และเชื้อลิสทีเรีย เป็นต้น โดยการปนเปื้อนเชื้อโรคสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การขนส่ง แม้กระทั่งการจัดจำหน่าย ดังนั้น ควรล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย 

ผักและผลไม้ที่ไม่ได้ล้าง

เครดิต : Freepik

 

เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารขยะ

อาหารขยะมีข้อเสียมากมาย ทั้งสารอาหารน้อยแต่แคลอรี่สูง หากรับประทานมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ  ที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ นอกจากนี้ เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างไส้กรอกหรือแฮม ก็เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคในกระบวนการผลิตและขั้นตอนการเก็บรักษาได้ ดังนั้น ควรนำมาอุ่นหรือปรุงให้สุกอีกครั้งก่อนรับประทาน 

เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารขยะ

เครดิต : Freepik

 

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

สตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะคาเฟอีนนั้นถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วและถูกส่งผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ในขณะที่สายรกและทารกในครรภ์นั้นยังไม่มีเอนไซม์หลักที่ช่วยเผาผลาญคาเฟอีน การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปจึงอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก หรืออาจส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

เครดิต : Freepik

 

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง เพราะการบริโภคเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกได้แล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (FAS) ซึ่งส่งผลให้ทารกเกิดความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ใบหน้าผิดปกติ มีความบกพร่องทางสติปัญญา หัวใจพิการ เป็นต้น หากดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องผลกระทบอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้แท้งลูกได้เลยทีเดียว 

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

เครดิต : Freepik

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : healthline.com / mayoclinic.org / pobpad.com

บทความการดูแลสุขภาพ