รู้ก่อนใช้ ! ยาแก้ไอมีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร ?

รู้ก่อนใช้ ! ยาแก้ไอมีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร ?

อาการไอเป็นอาการป่วยที่หลายคนคุ้นเคยและดูเหมือนจะมาทักทายเราบ่อยขึ้น เพราะการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันมีทั้งฝุ่น ควัน มลพิษ และเชื้อโรคมากมาย โดยเฉพาะในยุคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่มีอาการไอเป็นอาการหลักระบาดอยู่ด้วยนั้นยาแก้ไอยิ่งทวีความสำคัญขึ้นอีก แต่ยาแก้ไอไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว แต่ละแบบก็ใช้งานไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงควรทราบรายละเอียดของยาแก้ไอก่อนว่ามีชนิดไหน อย่างไรบ้าง จะได้เลือกใช้ได้ถูก

 

ประเภทของยาแก้ไอ

ยาแก้ไอแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

  • ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแห้ง

ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแห้งหรือยากดอาการไอ มีหลายชนิด เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan), โคเดอีน (Codeine), ลีโวโดรโพรพิซีน (Levodropropizine) เป็นต้น ยาแก้ไอกลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาททำให้ไอน้อยลง ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการไอจากการแพ้หรือไอแห้งจากสาเหตุอื่น ๆ แต่ผู้ที่ไอมีเสมหะไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองและไอมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยาบางตัวยังอาจทำให้เกิดการเสพติดหรือทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ 

 

  • ยาแก้ไอสำหรับอาการไอมีเสมหะ 

สำหรับยาแก้ไอกลุ่มนี้สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท ประเภทแรกคือยาขับเสมหะ ที่ช่วยสร้างน้ำหล่อเลี้ยงทางเดินหายใจ ทำให้หายใจสะดวกขึ้น ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือยาละลายเสมหะ จะช่วยให้ขับเสมหะออกมาง่ายขึ้น มักใช้กับผู้ที่มีอาการไอที่เกิดจากการติดเชื้อ แต่ยาในกลุ่มนี้บางตัวผสมยาขยายหลอดลมด้วย กินแล้วอาจทำให้ใจสั่นได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin (Glyceryl guaiacolate), บรอมเฮกซีน (Bromhexine) และ แอมบรอกซอล (Ambroxol)

 

วิธีแก้ไอแบบไม่ต้องใช้ยา

ปกติอาการไอที่เกิดขึ้นชั่วคราวไม่ใช่การไอแบบเรื้อรังนั้นสามารถหายไปได้เอง โดยนอกจากการใช้ยาแก้ไอแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่ช่วยลดอาการไอได้ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หนุนหมอนให้สูงขึ้นเพื่อบรรเทาอาการไอแห้ง รวมถึงวิธีดังต่อไปนี้

 

  • ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้นเพื่อละลายเสมหะ บรรเทาอาการระคายเคืองคอ
  • ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาว ช่วยให้ชุ่มคอ 
  • อาบน้ำอุ่นเพื่อช่วยลดน้ำมูกและบรรเทาอาการไอ 
  • สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ควัน และมลพิษ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์น้ำหอมปรับอากาศ เพราะทำให้จมูกระคายเคือง
  • เลิกสูบบุหรี่

 

อย่างไรก็ตาม เราควรไปปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาเพื่อให้เภสัชกรวินิจฉัยและจ่ายยาที่ถูกต้องตรงกับโรคจะปลอดภัยกว่า เพราะยาแก้ไอบางยี่ห้อมีส่วนผสมของยาหลายชนิด การไปซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนอาจทำให้เราใช้ยาผิดประเภท ซึ่งนอกจากจะไม่หายไอแล้วยังอาจทำให้มีอาการอื่นตามมาได้อีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: มหิดล, Pobpad

 

บทความแนะนำ

รู้จักกับ ยาเลื่อนประจำเดือน ทานอย่างไรถึงปลอดภัย

อันตรายจากยารักษาไมเกรน หากไม่ใส่ใจ อาจถึงชีวิต

สิ่งที่มักเข้าใจผิดเรื่องไข้เลือดออก และแนวทางป้องกัน

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง

 

บทความการดูแลสุขภาพ