หูดเเละตาปลา ต่างกันยังไง รักษายังไง ?

หูดเเละตาปลา ต่างกันยังไง รักษายังไง ?

หนึ่งในโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยบริเวณมือและเท้าก็คือ หูดและตาปลา แล้วเราจะมีวิธีสังเกตและแยกประเภทอย่างไรว่า โรคผิวหนังทั้ง 2 ชนิดนี้มันต่างกันอย่างไร วันนี้เภสัชกรชวนมาเช็คกันดูว่า ตุ่ม ๆ ที่นิ้วเรามันคืออะไรกันแน่ เป็นหูดหรือตาปลาหรือเปล่า จะได้รักษากันอย่างถูกต้องและปลอดภัย

 

หูด

ลักษณะ

หูดที่มือและเท้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตุ่มนูนแข็ง ผิวขรุขระ มีได้หลายสี (เช่น สีผิวหนัง สีเหลือง) เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ

สาเหตุ

หูดเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ผิวหนังเราหนาขึ้น จึงเกิดเป็นลักษณะของหูดขึ้นมานั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าไวรัสนี้ยังสามารถลุกลามไปยังบริเวณอื่นในร่างกายหรือแพร่กระจายสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสได้อีกด้วย

การรักษา

การรักษามีหลายวิธี โดยหากเบื้องต้นเราสามารถใช้การทายาเพื่อรักษาหูดได้ โดยยาที่นิยมใช้คือ ยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) เช่น คอนคอน (Con Con), คอลโลแม็ค (Collomak), ดูโอฟิล์ม (Duofilm), เวอร์รูมาล (Verrumal) โดยส่วนใหญ่แนะนำให้ทาบริเวณหูดวันละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 12 สัปดาห์ ทั้งนี้หากทาเป็นประจำนานเกิน 12 สัปดาห์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม

การป้องกัน

หูดสามารถป้องกันได้หลายวิธี  เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสของใช้ส่วนตัวของผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสคนที่เป็นหูด ล้างมือและรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น 

 

ตาปลา

ลักษณะ

ตาปลาเป็นโรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็นตุ่มหนา แข็ง กดแล้วเจ็บ ผิวหนังตรงกลางตาปลาจะมีสีเทา และผิวหนังรอบ ๆ เป็นสีเหลือง ส่วนใหญ่แล้วตาปลาจะพบได้บ่อยบริเวณนิ้วเท้าและฝ่าเท้า

สาเหตุ

ตาปลาบริเวณมือและเท้านั้น เกิดจากการที่ผิวหนังมีการเสียดสีบ่อย ๆ หรือมีการกดทับ เช่น เท้าเสียดสีกับรองเท้า จนทำให้ผิวบริเวณดังกล่าวมีความหนาและด้านขึ้น เป็นต้น

การรักษา

การรักษาตาปลาที่เราสามารถทำได้เอง คือ ใช้ยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก ซึ่งอยู่ในรูปแบบแผ่นแปะหรือรูปแบบยาทาสำหรับตาปลา โดยใช้ยานี้บริเวณที่เป็นตาปลา ทั้งนี้หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาแบบอื่นเพิ่มเติม

การป้องกัน

การป้องกันตาปลานั้นสามารถทำได้หลายวิธีเช่น สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้าไม่คับหรือแน่นจนเกินไป ใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างเท้ากับรองเท้า หรือทาโลชั่นเพื่อลดการเสียดสีของเท้า เป็นต้น

 

สรุปหูดและตาปลา

โรค หูด ตาปลา
ลักษณะ ตุ่มนูนแข็ง ผิวขรุขระ มีได้หลายสี กดจะรู้สึกเจ็บ พบที่มือและเท้า ตุ่มหนา แข็ง กดแล้วเจ็บ ผิวหนังตรงกลางตาปลาจะมีสีเทา พบที่นิ้วเท้า ฝ่าเท้า
สาเหตุ เกิดจากไวรัส HPV กระตุ้นให้ผิวหนาขึ้น ลุกลามไปส่วนอื่นและแพร่ให้คนอื่นได้ เกิดจากการที่ผิวหนังมีการเสียดสีบ่อย ๆ หรือมีการกดทับ
การรักษา ทายาเพื่อรักษาหูด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3 เดือนควรพบแพทย์
ทายารักษาตาปลา ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์
ป้องกัน เลี่ยงการสัมผัสกับคนอื่นที่อาจเป็นหูด เลี่ยงการสวมรองเท้าคับ เสียดสี อาจใช้โลชั่นทาที่เท้าช่วย

 

ผู้เขียน 

จิตริน ฟองสถาพร

ภ.45055

 

อ้างอิง

 

อ่านอะไรต่อดี

หูด เรื่องเล็กชวนหนักใจ รักษาได้หลายวิธี

อาการคันจากเชื้อราต้องใช้ยาอะไร

ยาคุมกำเนิดรักษาสิว ต้องเลือกแบบไหน

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง

บทความการดูแลสุขภาพ