“ถั่งเช่า” ดีจริงไหม อันตรายอย่างไร ? รวมประโยชน์และโทษที่ต้องรู้ !

“ถั่งเช่า” ดีจริงไหม อันตรายอย่างไร ? รวมประโยชน์และโทษที่ต้องรู้ !

“ถั่งเช่า” เป็นชื่อสมุนไพรจีนที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงที่ผ่านมา ด้วยสรรพคุณมากมายของถั่งเช่าที่เจ้าของผลิตภัณฑ์หลายแห่งกล่าวอ้าง อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าสมุนไพรชนิดนี้ดีอย่างที่เค้าโฆษณาจริงหรือเปล่า บทความนี้เราจะพาไปไขข้อสงสัยทั้งหมดเกี่ยวกับสมุนไพรตัวนี้กันว่า ถั่งเช่าคืออะไร มีสรรพคุณอย่างไร อันตรายหรือไม่ และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

 

ถั่งเช่าคืออะไร ? 

ถั่งเช่า เป็นยาสมุนไพรจีนที่ชื่อว่า “ตงฉงเซี่ยเฉ่า” หรือ “หญ้าหนอน” เกิดจากหนอนผีเสื้อและเห็ด ซึ่งหนอนผีเสื้อชนิดนี้จะจำศีลอยู่ใต้หิมะในฤดูหนาว เมื่อหิมะละลาย หนอนผีเสื้อก็จะออกมากินสปอร์ที่ปะปนอยู่ในดิน สปอร์ดังกล่าวจึงดูดสารอาหารจากตัวหนอนจนเติบโตกลายเป็นเห็ดรูปร่างคล้ายไม้กระบอกงอกออกจากปากของตัวหนอนผีเสื้อ

  • ถั่งเช่าพบได้ตามเทือกเขาสูงแถบทิเบต ชิงห่าย ยูนาน กานซู อยู่สูง 10,000 - 12,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวและระดับออกซิเจนในอากาศน้อยกว่าปกติ คนเก็บจึงต้องมีสุขภาพแข็งแรงและต้องมีใบอนุญาตจึงจะสามารถขึ้นไปเก็บได้
  • ถั่งเช่าที่ขึ้นตามธรรมชาติ มีราคาแพงมาก โดยอาจมีราคาสูงถึงกิโลละ 700,000 - 1,000,000 บาทหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของถั่งเช่า 

 

ถั่งเช่า กับ เห็ดถั่งเช่าสีทอง ไม่เหมือนกัน

ในปัจจุบันถั่งเช่ามี 2 ชนิด คือ ถังเช่า และ เห็ดถังเช่าสีทอง ถังเช่าเป็นเห็ด+หนอน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordyceps sinensis) แต่เห็ดถังเช่าสีทองเป็นเห็ดอย่างเดียว ไม่มีส่วนของหนอน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordyceps militaris) โดยสมุนไพรทั้งสองอย่างนี้อยู่ตระกูลเดียวกัน แต่คนละสปีชี่ สรรพคุณและสารสำคัญคล้ายกัน ต่างกันที่ฤทธิ์ยา (ถังเช่าฤทธิ์เป็นยาอุ่นร้อน ส่วนเห็ดถังเช่าสีทองเป็นอาหารฤทธิ์กลาง สามารถรับประทานเป็นอาหารได้ เช่น ต้มซุป ผัดผัก ชงชา) 

 

สรรพคุณของถังเช่า

ถังเช่าเป็นยาสมุนไพรจีนที่มีสารอาหารหลายชนิด เช่น โพลีแซคคาไรด์ (Galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (Adenosine, Cordycepin), Cordycepic Acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (Ergosterol, Beta-Sitosterol), โปรตีน, วิตามินหลายชนิด (วิตามิน E, K, B1, B2 และ B12), โพแทสเซียม, โซเดียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, เหล็ก, สังกะสี และซิลิเนียม เป็นต้น

ตามตำราแพทย์แผนจีนแล้ว ถังเช่ามีสรรพคุณบำรุงพลังหยางของไตและปอด หยุดเลือด สลายเสมหะ ใช้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปวดเอวปวดเข่า ขาไม่มีแรง ที่มาจากพลังหยางของไตน้อย (เป็นคนขี้หนาว กลัวหนาว แขนขาเย็น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางดึก ปัสสาวะใส ปวดเอว ปวดเข่าเรื้อรัง) หากการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเกิดจากสาเหตุอื่นอย่างความเครียด การติดขัดของลมปราณและเลือด หรือปวดเอว ปวดเข่าจากอุบัติเหตุ ขยับผิดท่า กระดูกทับเส้น ถังเช่าก็อาจไม่ได้ช่วยโดยตรง

นอกจากนี้ ถังเช่ายังใช้รักษาอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดจากวัณโรคปอด มะเร็งปอด ภาวะร่างกายขาดพลังหยาง แต่ควรให้แพทย์แผนจีนวินิจฉัยก่อนว่าเรามีภาวะหยางน้อยหรือไม่ เหมาะกับการใช้ถังเช่าหรือไม่

ผลการวิจัยทางแผนปัจจุบันของถังเช่ามีมากมาย ที่จีนมีทั้งการทำวิจัยในหนูทดลอง ทั้งวิจัยกับคน เช่นฤทธิ์ด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การต้านมะเร็ง การส่งเสริมการทำงานของไต

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของถังเช่าที่ศึกษาในคนอย่างเป็นระบบนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น

 

ถังเช่าทำให้ไตวายจริงหรือไม่ ?

ถึงแม้ว่าที่ประเทศจีนจะมีงานวิจัยทั้งในสัตว์และในคนไข้พบว่าถังเช่าช่วยเรื่องการทำงานของไตได้ แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่า ถั่งเช่าส่งผลเสียต่อการทำงานของไต โดย ดร.พจ. รัทธวรรณ วงศ์ปัทมเจริญ ให้ความเห็นว่าอาจมีสาเหตุมาจาก

  1. การที่หลายคนไปซื้อถังเช่ามารับประทานเอง จึงอาจรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปหรือรับประทานผิดวิธี จนส่งผลเสียต่อไตได้ 
  2. เนื่องจากถั่งเช่าของแท้มีราคาแพง บางร้านจึงมีการผสมโลหะหนักเข้าลงในถั่งเช่าแบบผงเพื่อเพิ่มน้ำหนักและราคา ส่วนการเก็บรักษาที่เป็นตัวก็ยากเช่นกัน เพราะจะมีปัญหากับมอดและแมลง จึงมีคนนำกำมะถันไปพ่นเคลือบป้องกันมอด ทำให้เก็บได้นาน การทานถังเช่าที่มีสารปนเปื้อนต่อเนื่องระยะยาว จึงอาจส่งผลต่อการทำงานของไต 
  3. แหล่งที่มาของถั่งเช่าก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะดินและน้ำของเทือกเขาบางแห่งอาจมีการปนเปื้อนมลพิษ ซึ่งถั่งเช่าเป็นเห็ดซึ่งดูดซึมสารอาหารจากดินและน้ำ จึงอาจมีการพบโลหะหนักและสารอื่น ๆ ในถังเช่าได้
  4. อาจมีการใส่วิตามินและสารอื่นผสมลงไปด้วย โดยบางครั้งการทานมากเกินไป ซื้อมาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือมีการทานยาตัวอื่นอยู่ ก็อาจส่งผลกระทบได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไตอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อมารับประทาน

 

ถั่งเช่า รับประทานเท่าไหร่ถึงเหมาะสม ?

สำหรับปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานถังเช่านั้น ดร.พจ. รัทธวรรณ วงศ์ปัทมเจริญ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ปริมาณการรับประทานแบบเป็นตัวอยู่ที่ 3 - 9 กรัม ส่วนการรับประทานถั่งเช่าแบบสกัดต้องระวังเรื่องปริมาณให้ดี หากทานมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ฉะนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย 

นอกจากนี้ ถั่งเช่ายังมีฤทธิ์อุ่นร้อน หากคนที่ร่างกายร้อนอยู่แล้วทานไปจะยิ่งร้อน โดยเฉพาะผู้ป่วยความดัน เบาหวาน ทางแผนจีนบอกว่า ร่างกายออกไปทางร้อน หากซื้อทานเองอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ควรให้แพทย์แผนจีนวินิจฉัยและจ่ายยาที่เหมาะกับแต่ละคน

 

ทำไมจีนถึงควบคุมการขายถั่งเช่า ?

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขของประเทศจีนออกมาประกาศตัดถั่งเช่าออกจากบัญชีอาหารเสริมสุขภาพ ซึ่ง ดร.พจ. รัทธวรรณ วงศ์ปัทมเจริญ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ที่จีนประกาศให้มีการดูแลควบคุมเรื่องการขายจริง ซึ่งมี 2 ประเด็น คือ

1) ให้ควบคุมการขายถั่งเช่าว่า "เป็นยาจีน" ไม่ใช่อาหาร ถ้าอยากทาน ต้องให้หมอเป็นคนจ่าย (ไม่ได้ตัดออกจากการเป็นยา แต่ตัดออกจากการเป็นอาหาร) และ 

2) ให้ควบคุมการผลิตการวางขายให้เคร่งครัด เนื่องจากตรวจพบโลหะหนักและปนเปื้อนสารหนู

 

ข้อควรระวังในการรับประทานถั่งเช่า

  • ถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่จึงไม่ควรรับประทาน
  • ถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดความดัน ลดน้ำตาล หากซื้อทานเองอาจทำให้ความดันต่ำ น้ำตาลต่ำ ใจสั่น หรือหน้ามืดได้
  • ถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
เพจ หมอแนน แพทย์จีน TCM
(ดร.พจ. รัทธวรรณ วงศ์ปัทมเจริญ)
https://pharmacy.mahidol.ac.th

บทความการดูแลสุขภาพ