ภาวะนอนติดเตียง เกิดได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่สุขภาพเสื่อมโทรมต้องนอนบนเตียงตลอดเวลา ผู้ป่วยอาจเคลื่อนไหวได้เล็กน้อยหรือไม่ได้เลย ซึ่งมักจะมีปัญหาสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกาย และจากโรค จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ร่างกายและจิตใจมีความแข็งแรง ไม่ให้ถดถอยเร็วเกินไป หากใครจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง ต้องใส่ใจ 5 ประเด็นสำคัญต่อไปนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง
แผลกดทับ
เพราะการที่ผู้ป่วยนอนท่าเดิมนาน ๆ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นขาดเลือดมาเลี้ยง นานวันเข้าอาจทำให้เซลล์ตาย จนเกิดเป็นแผลได้ ดังนั้นควรพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 - 3 ชั่วโมง และจัดท่านอนผู้ป่วย ร่วมกับกระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวเท่าที่ทำได้
ภาวะการกลืนลำบาก หรือสำลัก
อาจทำให้เศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม หรืออุดหลอดลมได้ เมื่อถึงเวลาทานอาหาร ควรจับให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง หรือใช้หมอนหนุนหลัง หรือปรับเตียง 45 - 90 องศา
ภาวะเคลื่อนไหวลำบาก
เมื่อผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวน้อยอาจทำให้เกิดอาการข้อยึด ควรชวนผู้ป่วยขยับร่างกายเป็นประจำ หากทำได้ หรือทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์แนะนำ
ความสะอาด
เนื่องจากการที่ผู้ป่วยมีการขยับตัวได้น้อยลง จึงอาจต้องระวังเรื่องความสะอาดมากขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแผลกดทับ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อที่ปอด ควรทำความสะอาดร่างกายและเตียงผู้ป่วยบ่อย ๆ จัดให้เตียงผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน ทำความสะอาดห้องให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ หากพบปัสสาวะของผู้ป่วยมีสีขุ่น ข้น หรือปัสสาวะไม่ออก ควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
ภาวะสุขภาพจิต
ผู้ป่วยติดเตียงหลายคนมักมีอาการเบื่อหน่าย หรือมีความทุกข์จากความเจ็บป่วย ผู้ดูแลจึงควรหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันให้ผู้ป่วยเกิดความผ่อนคลาย และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยร่วมมือในการดูแลตนเอง
หากมีคนใกล้ตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องรับหน้าที่ผู้ดูแล นอกจาก 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวไปแล้ว ควรใส่ใจให้ความสำคัญกับผู้ป่วยมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด มีความสะอาด ไม่ขาดสารอาหาร ลดภาระการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ลดอุปสรรคในเคลื่อนย้าย และพยายามให้ผู้ป่วยร่วมมือในการดูแลตนเองเพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง และผู้ดูแล
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร
อ่านอะไรต่อดี ?
3 ท่า ลุกจากเตียงอย่างถูกวิธี ปลอดภัยต่อสุขภาพ
ดูแลผู้สูงอายุป่วยติดเตียง ไม่ให้เสี่ยงโควิด 19
วิธีเลือกวีลแชร์ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ คนชรา
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999