หน้าร้อนต้องระวัง ! ผิวพังไม่รู้ตัว

หน้าร้อนต้องระวัง ! ผิวพังไม่รู้ตัว

อากาศร้อนเป็นสิ่งที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันดี ยิ่งเข้าสู่ฤดูร้อนอุณหภูมิก็จะยิ่งสูงขึ้นกว่าเดิม จนบางปีอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งทั้งแดดและความร้อนนอกจากจะทำให้ผิวไหม้คล้ำแดดแล้ว ยังอาจพา “โรคผิวหนัง” มาให้เราแบบไม่รู้ตัวอีกต่างหาก โดยโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศร้อนมี 6 โรค ดังนี้

  1. ผด เป็นผลมาจากการที่เหงื่อออกมามากเกินไปจนเกิดการอุดตัน ขณะที่ร่างกายพยายามขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย จึงเกิดเป็นผดแดงเล็ก ๆ พบได้มากในบริเวณคอ หน้าอก และแผ่นหลัง ซึ่งผดมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ 
  2. เขื้อราบนผิวหนัง มักเกิดกับผู้ที่เหงื่อออกมากและไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายทันที เช่น ผู้ที่ต้องใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องแบบที่มีความหนาเป็นเวลานาน นักกีฬาที่ใส่รองเท้าเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคผิวหนังที่เกิดจากพวกกลากที่มีลักษณะเป็นผื่นปื้นเล็ก  ๆ เป็นดวงขาวหรือแดง-ดำ มีขุยละเอียด เกลื้อนที่มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหรือรี ขอบชัดเจน นูน มีขุยขาว คัน และเชื้อราในร่มผ้า
  3. ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือการที่เหงื่อออกมากเพราะความร้อน เป็นต้น
  4. ผิวหนังอักเสบ ความร้อน เหงื่อและผิวที่เสียดสีกันอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้โดยเฉพาะตามบริเวณข้อพับ ยิ่งคนที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วยิ่งมีโอกาสที่อาการภูมิแพ้ผิวหนังจะกำเริบจนเกิดผื่นแพ้ได้ง่าย
  5. ฝ้าและกระ อากาศร้อนและแดดที่แรงกว่าปกติกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดสี Melanin มากกว่าปกติจนเกิดเป็นฝ้าหรือกระได้
  6. มะเร็งผิวหนัง การที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดในช่วงเวลา 10:00 - 15:00 น. และควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เพื่อปกป้องผิวหนัง

 

ทั้งนี้้ ข้อมูลจากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ได้แนะนำการดูแลสุขภาพผิวในช่วงฤดูร้อนไว้ ดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งขณะที่แดดจัดหรืออากาศร้อนอบอ้าวเท่าที่จะเป็นไปได้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น ร่ม หรือหมวกปีกกว้าง
  • เลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวของตัวเอง
  • อาบน้ำบ่อย ๆ หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำถูร่างกายเมื่อรู้สึกร้อน
  • ดูแลร่างกายให้ได้รับปริมาณน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ลดความเครียด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่
  • หมั่นสังเกตความผิดปกติของผิวหนังอยู่เสมอ

 

ภญ.กมลชนก ไทยเรือง
เลขที่ใบอนุญาต ภ.43404
ผู้เขียน 

บทความการดูแลสุขภาพ