Work Form Home ความเครียด กับ สุขภาพจิต

Work Form Home ความเครียด กับ สุขภาพจิต

แม้ว่าโควิดจะอยู่กับเรามานานแล้วแต่ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะจากไปง่าย ๆ ทำให้หลายคนต้องนั่งทำงานที่บ้านต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง บางคนอาจบอกว่า WFH มีข้อดีเยอะจะตาย ทั้งสะดวก สบาย ไม่เปลืองเงิน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องระวังให้ดี เพราะ WFH ก็มีด้านที่แย่เช่นเดียวกัน เพราะใครที่ต้องทำงานคนเดียวนานๆ อาจทำให้เกิดความเครียดสะสม หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้ !

 

ทำไม WFH แล้วเครียด ?

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดจากการ WFH นั้นมีหลายสาเหตุ ซึ่งเหตุผลทั้งหมดนั้นล้วนเกิดจากสิ่งเล็กน้อยรอบตัวที่เราไม่ทันสังเกตแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น

  • สิ่งรบกวนเยอะเกินไป ไม่ว่าจะเป็น Smartphone อยู่ใกล้มือ, มีคนมาส่งข้าว, ให้อาหารน้องแมวที่บ้าน หรือเสียงรบกวนจากภายนอก
  • ให้ความช่วยเหลือคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือคำเชิญชวนจากเพื่อนฝูง
  • ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ซึ่งส่งผลให้คุณภาพการนอนลดลง ทำให้ตื่นมาแล้วไม่สดใส หมดพลัง
  • ไม่ได้เจอคนอื่นนานเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน

 

สัญญาณต้องระวัง

เมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ออกห่างจากเพื่อนร่วมงานและผู้คนในสังคม ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดสะสมมากขึ้น ซึ่งหากไม่ได้พักผ่อนคลายความเครียดออกไปบ้าง หรือเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ 7 ข้อต่อไปนี้ ต้องระวังให้ดี เพราะมันเป็นสัญญาณที่บอกว่าการทำงานที่บ้านของคุณกำลังแย่ลง

  1. รู้สึกว่าตัวเองมีความเครียดมากขึ้น
  2. เหนื่อยมากกว่าปกติ เหมือนทำงานตลอดเวลาไม่ได้พักผ่อน
  3. เริ่มมีอาการป่วย เช่น ปวดหลัง ปวดคอ กรดไหลย้อน โรคกระเพาะ เป็นต้น
  4. สื่อสารกับทีมผิดพลาดบ่อย ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์
  5. ไม่มีสมาธิทำงาน หลุดโฟกัสง่าย โดยดึงความสนใจจากสิ่งรอบข้าง
  6. ทำงานช้าลง เนื่องจากแอบพักบ่อย แอบเล่นเกม ไม่มีสมาธิทำงาน
  7. ขาดแรงบันดาลใจ ขาดความคิดสร้างสรรค์

 

วิธีจัดการความเครียดช่วง WFH

จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นว่า การทำงานที่บ้านหรือ WFH มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมได้ทั้งสิ้น ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจพัฒนากลายเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือเป็นสาเหตุของโรคร้ายได้หลายชนิด วันนี้เรามีเคล็ดลับในการจัดการความเครียดช่วง Work From Home มาฝากกัน

  • ทำกิจกรรมตอนเช้าหลังตื่นนอนให้เหมือนตอนไปทำงานที่ออฟฟิศ เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน ทานอาหาร เพื่อให้ร่างกายสดชื่นจัดพื้นที่ทำงานให้เป็นสัดส่วน แยกออกจากพื้นที่พักผ่อน และใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำงาน ป้องกันการบาดเจ็บบริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อ
  • พักทานอาหารเที่ยงให้ตรงเวลาให้เหมือนตอนไปทำงานที่ออฟฟิศ
  • เลิกงานให้เป็นเวลา ให้ร่างกายได้พักผ่อน
  • ไม่ทำงานบนเตียง เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ยังทำให้การใช้ชีวิตรวน ซึ่งอาจส่งผลให้งานออกมาไม่มีประสิทธิภาพ
  • หาเวลาออกกำลังกายบ้าง เพื่อคลายเครียดและช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
  • คอยสังเกตตัวเองตลอดเวลา เพราะการ WFH เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความเครียดและอาจเกิดการเจ็บป่วยได้โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

 

สุดท้ายนี้ไม่ได้หมายความว่าการ WFH จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเครียดหรือปัญหาสุขภาพกันทุกคน เพราะแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน มีปัจจัยเสี่ยงต่างกัน ซึ่งเราควรลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้การ Work From Home ออกมามีประสิทธิภาพ ได้ทั้งงานดี และสุขภาพดีไปด้วยกัน

บทความการดูแลสุขภาพ