ถ้าพูดถึงของอร่อยแล้วล่ะก็อาหารไทยนี่มาเป็นที่หนึ่งในใจเภเลยค่ะ แต่อาหารไทยส่วนใหญ่จะมีรสชาติจัดจ้าน ตอนกินก็อร่อยอยู่หรอก แต่กินรสจัดมาก ๆ ไม่ดีต่อสุขภาพนะคะ วันนี้เภมีข้อมูลสุขภาพดี ๆ มาฝากค่ะ
เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด อาหารไทยมีครบทุกรสที่กล่าวมา อีกทั้งรสชาติยังจัดจ้านถูกปากคนทั่วโลกอีกด้วย กินได้ทุกวันไม่มีเบื่อ แต่อาหารที่อร่อยปากมักจะมีข้อเสียแฝงอยู่ด้วยเสมอ อาหารรสจัดก็เช่นกัน หากเรากินอาหารรสจัดมากเกินไป อาจมีปัญหาสุขภาพมากมายตามมาได้ ! เราไปดูกันว่าอาหารแต่ละรสมีข้อเสียอย่างไร แล้วต้องกินอย่างไรถึงจะปลอดภัยและสุขภาพดี
ประโยชน์ของอาหารแต่ละรสชาติในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน
อาหารแต่ละรสชาตินอกจากความอร่อยแล้วยังแฝงไปด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย หากเราเลือกรับประทานแต่พอดีก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในทุกมื้ออาหาร โดยข้อดีของรสชาติอาหารต่าง ๆ มีดังนี้
รสหวาน: อาหารรสหวานมีข้อดีคือทำให้ร่างกายได้พลังงานอย่างรวดเร็ว แก้กระหาย ช่วยให้รู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลีย คลายปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เสริมการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม
รสเค็ม: อาหารรสเค็มมีโซเดียมซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญของร่างกาย ช่วยควบคุมของเหลวในร่างกายให้สมดุล ควบคุมค่าความเป็นกรด/ด่างในเลือด และควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
รสเปรี้ยว: อาหารรสเปรี้ยวช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ขับเสมหะ ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับและถุงน้ำดี อีกทั้งยังแก้อาการเลือดออกตามไรฟันได้อีกด้วย
รสเผ็ด: อาหารรสเผ็ดช่วยขับเหงื่อ ขับลมในกระเพาะและลำไส้ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ช่วยให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมการทำงานของปอดและลำไส้อีกด้วย
ข้อเสียของอาหารรสจัด
แน่นอนว่ามีข้อดีแล้วย่อมต้องมีข้อเสีย รสชาติอาหารต่างๆ หากกินรสจัดเป็นประจำอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ตัวอย่างเช่น
รสหวาน: หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหารรสหวานนั้นมีผลโดยตรงกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่จะตามมาเนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป นอกจากนี้ ความอ้วนยังพ่วงความเสี่ยงต่อสุขภาพอีกมากมาย เช่น กรดไหลย้อน ไขมันพอกตับ ข้อเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
รสเค็ม: ส่วนสำคัญของรสเค็มคือโซเดียมซึ่งส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานช้าลง ความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณมากจะทำให้รู้สึกคอแห้ง กระหายน้ำ ทำให้เป็นร้อนใน หากได้รับโซเดียมมากเกินไปอาจถึงขั้นทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
รสเปรี้ยว: สำหรับอาหารรสเปรี้ยวนั้นก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน โดยรสเปรี้ยวจะทำให้มีโอกาสเป็นร้อนใน มีผลต่อระบบการขับถ่ายอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และส่งผลต่อระบบน้ำเหลืองในร่างกาย หากรับประทานมากเกินไปจะเป็นการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ รสเปรี้ยวยังไปทำลายสารเคลือบฟัน ทำให้เสียวฟันได้ง่าย และเสี่ยงฟันผุ
รสเผ็ด: ถึงแม้รสเผ็ดจะมีข้อดีหลายประการ แต่ในขณะเดียวกันรสเผ็ดก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยรสเผ็ดนั้นจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารอย่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หากรับประทานมากไปอาจทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ ซึ่งอาจส่งผลให้ลำไส้แปรปรวน ท้องผูก ท้องเสีย หรือเกิดกรดไหลย้อนได้
ปรับรสลงนิดเพื่อสุขภาพ
จากข้อมูลด้านบนคงเห็นกันแล้วว่า การกินอาหารรสจัดไม่ว่าจะเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือปรับเปลี่ยนวิธีการกินของตัวเองเสียใหม่ โดยมีเคล็ดลับดังนี้
1. ฝึกรับประทานรสจืดตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้ร่างกายเคยชินและติดเป็นนิสัย
2. ลดปริมาณการปรุงลง ทั้งน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้ม และพริก
3. น้ำจิ้มและซอสถือเป็นแหล่งให้ความเค็มชั้นดี ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้จะดีต่อสุขภาพ
4. ขนมซองและอาหารสำเร็จรูปนั้นมีโซเดียมสูง ควรลดปริมาณลง
5. ของมันและของทอดเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยง หันไปรับประทานอาหารประเภทต้มหรือนึ่งแทน
6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟ เป็นต้น
รสชาติอาหารแต่ละอย่างนั้นล้วนมีข้อดีละข้อเสียแตกต่างกันไป ก่อนจะเลือกรับประทานให้หยุดนึกถึงความอร่อยละรสชาติที่ถูกปากไว้ก่อน แล้วตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะตามมาด้วย ทางที่ดีควรปรับเปลี่ยนวิธีกิน ปรุงให้น้อยลง เลือกอาหารรสไม่จัดมาก อาจไม่ค่อยถูกปากแต่ดีแต่สุขภาพในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก rama.mahidol.ac.th / sikarin.com