วิธีดูแลผู้สูงวัยให้ปลอดภัยในยุคโควิด

วิธีดูแลผู้สูงวัยให้ปลอดภัยในยุคโควิด

“ผู้ป่วยสะสมกว่า 1,000,000 คน ผู้เสียชีวิตกว่า 8,000 คน และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” จากตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์ทั่วโลก ทุกคนคงทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อพวกเราอย่างแสนสาหัส ทุกเพศทุกวัยสามารถติดเชื้อได้ โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะคนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโควิดมากกว่าคนกลุ่มอื่น ดังนั้นใครที่มีผู้สูงอายุที่บ้านต้องคอยดูแลเป็นอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจร้ายแรงถึงชีวิต

 

ทำไมสูงวัยเสี่ยงกว่าวัยอื่น ?

แน่นอนว่าโควิดนั้นเป็นอันตรายต่อคนทุกเพศ ทุกวัยอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็เพราะว่า ด้วยอายุที่มากขึ้นส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเก่า ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงตามวัย ประกอบกับผู้สูงอายุบางคนอาจมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น โรคประจำตัวเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการร้ายแรงของโควิดได้ทั้งสิ้น

 

สูงวัยป่วยโควิด สังเกตอย่างไร ?

การสังเกตอาการของผู้สูงอายุว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่นั้นทำได้ยาก เพราะผู้ป่วยอาจแสดงอาการไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึมลงอย่างฉับพลัน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น หากผู้สูงอายุที่บ้านเริ่มมีอาการผิดปกติ สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด ควรโทรปรึกษาแพทย์หรือรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

 

แนวทางการดูแลสูงวัยในยุคโควิด

แยกห้องผู้สูงอายุการรักษา

ระยะห่างนั้นไม่ใช่แค่เพียงภายนอกบ้าน แต่ภายในบ้านก็ควรรักษาระยะห่างเช่นกัน เราควรจัดให้ผู้สูงอายุมีห้องส่วนตัว และแยกของใช้ส่วนตัวออกจากคนในครอบครัว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิดจากผู้อื่น

 

มอบหมายผู้ดูแลเพียงคนเดียว

ในกรณีที่บางบ้านอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีคนดูแลผู้สูงอายุหลายคน ในสถานการณ์โควิดแบบนี้ควรเลือกให้คนใดคนหนึ่งเป็นคนดูแลผู้สูงอายุเพียงคนเดียวจะปลอดภัยกว่า อาจให้คนที่ออกจากบ้านน้อยที่สุด พบปะผู้คนน้อยที่สุดเป็นคนดูแล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการนำเชื้อมาติดผู้สูงอายุในบ้าน

 

ทำความสะอาดจุดเสี่ยง

เชื้อโควิดสามารถติดอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานหลายวัน สมาชิกภายในบ้านทุกคนควรหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์หรือบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยครั้ง เช่น ลูกบิดประตู ราวจับ โต๊ะอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สวิตช์ไฟ ช้อนส้อม จานชาม เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองและสมาชิกภายในครอบครัวได้รับเชื้อ

 

ไม่ทานอาหารร่วมกัน

หนึ่งในสถานที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการแพร่กระจายของโควิดก็คือบนโต๊ะอาหาร ไม่เฉพาะโต๊ะอาหารในออฟฟิศหรือสถานที่สาธารณะ แม้แต่โต๊ะอาหารในบ้านก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ดังนั้นช่วงนี้จึงควรแยกกันรับประทาน ไม่รับประทานพร้อมกัน อาจใช้วิธีสลับเวลากันทานอาหารหรือแยกรับประทานอาหารในห้องส่วนตัวเพื่อความปลอดภัย

 

พักการรับข่าวสารบ้าง

การดูข่าวสารต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์ภายนอกอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่การรับข่าวสารมากเกินไปอาจเป็นการเพิ่มความเครียดและความวิตกกังวลให้กับผู้สูงอายุได้ จึงควรจำกัดเวลาในการรับฟังข่าวสารในแต่ละวัน เช่นอาจจะให้ผู้สูงอายุดูข่าวแค่วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หรือหากิจกรรมคลายเครียดเพื่อทำให้ผู้สูงอายุอารมณ์ดีขึ้น

 

จำกัดจำนวนคนเยี่ยม

บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย มักจะมีญาติพากันมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว ซึ่งการที่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาในบ้านอาจเป็นการนำเชื้อโควิดเข้ามาด้วย ดังนั้นในช่วงนี้ไม่ควรให้ญาติมาเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน อาจใช้วิธีโทรหรือวีดีโอคอลแทนไปก่อนเพื่อความปลอดภัย

 

เลื่อนนัดแพทย์

หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวที่ต้องไปหาหมอเป็นประจำ โดยเป็นการไปพบแพทย์ตามนัดหรือไปรับยาตามปกติ ไม่ใช่การเจ็บป่วยรุนแรงฉุกเฉิน ควรเลื่อนนัดหรือไปรับยาแทนหากทำได้ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุออกนอกบ้านซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส ในขณะเดียวกันผู้ที่ไปทำธุระแทนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นประจำเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ

 

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายอ่อนแอเจ็บป่วยได้ง่าย

ยิ่งในยุคที่มีเชื้อไวรัสแพร่ระบาดอย่างทุกวันนี้ ยิ่งต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ นอกจากคำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อย่าลืมเลือกอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้สารอาหารครบทุกหมู่ และพาไปออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันสู้โรคร้ายได้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก si.mahidol.ac.th / dop.go.th / covid19.dms.go.th

ขอบคุณภาพจาก Freepik

บทความการดูแลสุขภาพ