คลายสงสัย ! ทำไมไม่ควรกินยาพร้อมนม

คลายสงสัย ! ทำไมไม่ควรกินยาพร้อมนม

มีคำเตือนเกี่ยวกับการรับประทานยาเรื่องหนึ่งที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้ง คือ “ไม่ควรกินยาพร้อมนม” เคยสงสัยกันไหมว่าเพราะอะไรเราถึงไม่ควรทำแบบนั้น ? หากรับประทานยาพร้อมกับการดื่มนมไปด้วยจะเป็นอันตรายหรือเปล่า ? หรือการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไรกันแน่ ? หาคำตอบได้จากบทความนี้ 

 

สาเหตุที่ไม่ควรรับประทานยาพร้อมนม

การรับประทาน นม หรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต, ไอศกรีม, ชีส หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมสูง ซึ่งการรับประทานร่วมกับยาบางชนิดจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและนม (ยาตีกันกับนม) เนื่องจากแคลเซียมในนมจะไปทำปฏิกิริยากับโครงสร้างของยา ทำให้ได้สารประกอบที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและไม่ถูกดูดซึมหรือลดการดูดซึมยา หรืออาจทำให้ยาหมดฤทธิ์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคได้ลดลง

ในส่วนของยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม อะลูมิเนียม หรือแร่ธาตุเสริม เช่น ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ที่ไม่แนะนำให้รับประทานพร้อมกับยาบางชนิด เนื่องจากส่งผลลดการดูดซึมยา

ตัวอย่างยาที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและนมมีหลายชนิด ได้แก่  

 

1. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 

  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มควิโนโลน (Quinolones) Norfloxacin, Ciprofloxacin, Levofloxacin, Ofloxacin ควรรับประทานยากลุ่มนี้ห่างจากนมและผลิตภัณฑ์จากนม ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม อะลูมิเนียม รวมถึงแคลเซียมและแร่ธาตุเสริม อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracyclines) Tetracycline, Doxycycline ไม่ควรรับประทานยากลุ่มในเวลาใกล้เคียงกับการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม อะลูมิเนียม รวมถึงแคลเซียมและแร่ธาตุเสริม อย่างน้อย 2 ชั่วโมง 
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosprin) Cefdinir แนะนำให้เว้นระยะเวลาในการรับประทานยาและผลิตภัณฑ์จากนม และธาตุเหล็กอย่างน้อย 2 ชั่วโมง (แต่สามารถทานพร้อมนมได้ เพียงอาจทำให้อุจจาระมีสีส้มแดงเท่านั้น ซึ่งเป็นสีของสารประกอบเชิงซ้อนของยากับแคลเซียม)

 

2. ยารักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน Levothyroxine

ควรเว้นระยะเวลาในการรับประทานยาให้ห่างจากการบริโภคนม แคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมหรืออะลูมิเนียมอย่างน้อย 4 ชั่วโมง 

 

3. แร่ธาตุเสริม

ธาตุเสริมมีหลายอย่าง เช่น ธาตุเหล็ก, แมกนีเซียม, แคลเซียม Ferrous Fumarate, Ferrous Sulfate, Magnesium, Calcium เป็นต้น ผลิตภัณฑ์นมโดยส่วนใหญ่จะประกอบด้วยแคลเซียมที่เรียกว่า Calcium Carbonate ซึ่งเกลือ Carbonate สามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็ก แมกนีเซียม ทำให้ละลายน้ำได้น้อยลงและส่งผลลดการดูดซึม ดังนั้นไม่ควรรับประทานแร่ธาตุเสริมร่วมกับนมและผลิตภัณฑ์จากนม หรือยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม อะลูมิเนียม ควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

 

ภก. ธนธรณ์ กุลเกียรติประเสริฐ

เลขที่ใบอนุญาต ภ.43236

ผู้เขียน


สอบถามปัญหาสุขภาพ โรคภัยใกล้ตัว การใช้ยา กับเภสัชกรที่มีประสบการณ์ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

telepharmacy fascino


บทความการดูแลสุขภาพ