
ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และมีความสำคัญกับร่างกายเรามาก เพราะตับมีหน้าที่เป็นแหล่งเก็บวิตามินต่าง ๆ ผลิตน้ำดีย่อยอาหาร สร้างและเก็บสะสมแป้งและไขมันเพื่อเป็นพลังงาน และกำจัดสารพิษในร่างกาย ถ้าเราไม่ดูแลรักษาตับให้ดีวันนึงอาจเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ อย่างโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นซึ่งโรคมะเร็งที่พบมากสุดในเพศชาย แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรารู้จักโรคนี้และป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เภสัชกรได้รวบรวมเกร็ดความรู้โรคมะเร็งตับมาให้แล้ว ไปดูกันเลยค่ะ
ปัจจัยใดบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
- เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
- การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ หรือมีการอักเสบของท่อน้ำดีเรื้อรัง
- โรคตับแข็งเรื้อรัง
- การรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน และสารอะฟลาทอกซิน
อาการของโรคมะเร็งตับ
ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ จะเริ่มมีอาการเมื่อโรครุกราม โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการดังนี้
- เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด น้ำหนักตัวลดลง
- ปวดท้องด้านขวาตอนบน
- ตับโตจนคลำได้ ท้องบวม ขาบวม
- ตัวเหลืองตาเหลือง
การรักษาโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับที่พบได้บ่อยในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ มะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีในตับ และมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ ซึ่งวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับระยะของโรคและการแพร่กระจายของมะเร็ง ความรุนแรง และขนาดของเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดรักษามะเร็งตับ การผ่าตัดเปลี่ยนตับ การใช้ยาเคมีบำบัด หรือรักษาตามอาการในผู้ป่วยระยะท้าย
การป้องกันโรคมะเร็งตับ
- หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน เช่น ปลาร้า แหนม ไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน เช่น ถั่วลิสงบด หัวหอม พริกแห้ง และกระเทียมที่มีราขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
อย่างที่ทราบกันว่า โรคมะเร็งตับในระยะแรก ๆ มักจะไม่ได้แสดงอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยระยะที่มีอาการรุนแรงแล้วคือมีอาการท้องบวม ตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งเป็นระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือควรหมั่นตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอย่างสม่ำเสมอทุก 3 - 6 เดือน เพื่อจะได้รับการวินัจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วนะคะ
ผู้เขียน
ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ
เภสัชกร