ไขข้อข้องใจ ! คุณแม่มือใหม่ดื่มน้ำกระท่อมได้ไหม อันตรายต่อลูกหรือเปล่า ?

ไขข้อข้องใจ ! คุณแม่มือใหม่ดื่มน้ำกระท่อมได้ไหม อันตรายต่อลูกหรือเปล่า ?

หลังจากที่ทางรัฐบาลได้ปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้ปัจจุบันประชาชนสามารถปลูก ซื้อขาย และนำกระท่อมมาบริโภคได้อย่างถูกกฎหมายไม่นาน ก็ได้มีสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มคุณแม่มือใหม่ใน Social Media ตั้งคำถามว่า “อยู่ในช่วงให้นมบุตร ดื่มน้ำกระท่อมได้ไหม ?” เราจะพาไปรู้จักพืชที่ชื่อว่ากระท่อมกันให้มากขึ้น พร้อมทั้งสรรพคุณ โทษ และคำตอบของคำถามดังกล่าว อ่านได้จากบทความนี้  

 

รู้จักพืชกระท่อม

กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นที่พบมากในแถบภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทย พืชกระท่อมนั้นอยู่คู่กับวิถีชาวบ้านของคนไทยมาช้านาน โดยชาวไร่ชาวสวนในสมัยก่อนนิยมนำใบกระท่อมมาเคี้ยวเพื่อให้มีแรงทำงาน ทำงานได้นานขึ้น ทนแดดมากขึ้น นอกจากนี้ตัวใบกระท่อมเองนั้นยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาอาการท้องเสีย บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยคลายเครียด คลายกังวลได้

 

สารอันตรายในใบกระท่อม

ใบกระท่อมนั้นไม่ได้มีประโยชน์เพียงด้านเดียว โทษของใบกระท่อมก็มีมากมายเช่นเดียวกัน โดยใบกระท่อมนั้นมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ออกฤทธิ์คล้ายแอมเฟตามีน หากใช้มากเกินไปหรือใช้อย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายรูปแบบ เช่น 

 

  • เบื่ออาหาร
  • ปากแห้ง 
  • หนาวสั่น
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ท้องผูก 
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • นอนไม่หลับ
  • หวาดระแวง
  • เห็นภาพหลอน

 

คุณแม่มือใหม่ ดื่มน้ำกระท่อมได้ไหม ?

ในสังคมออนไลน์ได้มีคุณแม่มือใหม่ท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า หากตนเองดื่มน้ำกระท่อมในขณะที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร จะมีผลเสียอย่างไรหรือไม่ ทางเพจ Drama-Addict ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ในใบกระท่อมนั้นมีสารออกฤทธิ์อยู่หลายกลุ่ม เช่น Alkaloid, Flavonoid, Phenylpropanoid เป็นต้น ซึ่งสารบางชนิดมีกลไกการทำงานคล้ายฝิ่น มอร์ฟีน ทรามาดอล (เขียวเหลือง) หากใช้ในสตรีมีครรภ์อาจส่งผลกระทบถึงเด็กในท้องได้

 

หากสตรีมีครรภ์ใช้สารเสพติดเช่นยาเขียวแดง อาจทำให้ทารกที่เพิ่งคลอดมีอาการถอนยา (Neonatal abstinence syndrome : NAS) ซึ่งมีอาการหลายรูปแบบ เช่น หายใจเร็ว หอบ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ตัวสั่น เกร็ง กระตุก เป็นต้น ดังนั้นจึงคาดว่า ทารกที่เกิดจากมารดาที่ใช้กระท่อมอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้เกิดอาการ NAS ได้เช่นเดียกัน

 

นอกจากนี้ สารเสพติดนั้นสามารถซึมเข้าสู่ตัวเด็กได้ผ่านทางน้ำนม โดยผลกระทบจะรุนแรงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารเสพติดที่ทารกได้รับ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับตัวเด็กได้หลายรูปแบบ เช่น เด็กมีพัฒนาการช้า สมองเล็ก การหายใจผิดปกติ หากเด็กมีอาการขาดยาก็อาจมีอาการผิดปกติตามมาได้อีก เช่น งอแง เลี้ยงยาก ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาต่อสภาพจิตและพัฒนาการของเด็กในระยะยาวอีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

บทความการดูแลสุขภาพ