วิธีการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแผลกดทับที่บ้าน

วิธีการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแผลกดทับที่บ้าน

การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแผลกดทับ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากผู้ป่วยได้รับการใส่ใจดูแลเป็นอย่างดี ก็จะทำให้แผลของผู้ป่วยหายเร็ว ลดโอกาสการเกิดแผลใหม่ๆ ขึ้นมา ช่วยลดความทรมานให้ผู้ป่วยได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ คิดว่าเป็นแค่แผลธรรมดา อาจทำให้กลายเป็นแผลขั้นรุนแรงมากได้

ความหมายของแผลกดทับ

แผลกดทับ คือ แผลที่เกิดจากการถูกกดทับเป็นเวลานานๆ จนทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลาย กลายเป็นแผลขึ้นมา มักเกิดบริเวณปุ่มกระดูก หรือบริเวณที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์กดทับ สร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

กลุ่มที่พบปัญหาแผลกดทับ

  1. ผู้ป่วยสูงอายุนอนติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือ ต้องการคนดูแลในบางเวลา
  2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือไทรอยด์
  3. ผู้ป่วยที่ขยับร่างกายได้ลำบาก เช่น ผู้ป่วยที่มีแขนขาอ่อนแรง
  4. ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ เช่น กระดูกหัก ทำให้เคลื่อนไหวได้น้อย
  5. ผู้ป่วยที่ขาดสารอาหาร ขาดน้ำ ผิวหนังบาง
  6. ผู้ป่วยที่ควบคุมการขับถ่ายของตัวเองไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่

วิธีดูแลแผลกดทับ

การดูแลแผลของผู้ป่วยแผลกดทับ ผู้ดูแลต้องหมั่นทำความสะอาดแผล ขอแนะนำดังนี้

  • ใช้สำลีชุบน้ำเกลือปราศจากเชื้อ เช็ดทำความสะอาดแผลอย่างเบามือ โดยเช็ดจากด้านในวนออกด้านนอก จนห่างจากขอบแผลประมาณ 1 นิ้ว
  • ในกรณีแผลลึก มีโพรง ให้ใช้กระบอกฉีดยาฉีดพ่นน้ำเกลือปราศจากเชื้อ เพื่อทำความสะอาดแผลสัก 2-3 ครั้ง จนกว่าน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดจะมีความใส
  • หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ ยาแดง เบตาดีน หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำความสะอาดแผล เพราะอาจทำลายเนื้อเยื่อที่กำลังจะขึ้นมาใหม่
  • เลือกวัสดุปิดแผลที่เหมาะกับประเภทของแผล หากแผลมีน้ำหลั่งเยอะ อาจเลือกใช้วัสดุปิดแผลที่ดูดซับได้ดี แต่หากแผลมีน้ำหลั่งไม่เยอะ อาจใช้วัสดุปิดแผลที่ไม่ติดมากนัก
  • ควรเปลี่ยนผ้าพันแลเมื่อมีน้ำเหลืองซึม หรือมีสิ่งสกปรก เช่นอุจจาระ ปัสสาวะซึมเข้าไปในผ้าพันแผล
  • ผู้ดูแลควรดึงเตียงผู้ป่วยให้เรียบตึง และสะอาดอยู่เสมอ เพราะรอยยับของผ้าอาจทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรให้ผ้าปูที่นอนแห้ง ไม่อับชื้น และควรให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเท

ขั้นตอนการพลิกตะแคงผู้ป่วย

  • ในการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ ผู้ดูแลควรหมั่นพลิกตะแคงผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง
  • หากต้องเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วย ให้หลีกเลี่ยงการลากดึง แต่อาจใช้ผ้ารองช่วยยกตัวได้
  • ใช้หมอนหรือผ้ารองใต้น่องของผู้ป่วย เพื่อให้ส้นเท้าของผู้ป่วยลอยเหนือเตียง
  • กรณีที่ผู้ป่วยต้องนอนตะแคง ควรจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงกึ่งหงาย เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับบริเวณไหล่และสะโพก
  • อาจใช้ผ้าสอดบริเวณระหว่างเขาและขาทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันการเสียดสี และลดแรงกดทับระหว่างปุ่มกระดูก

ที่นอนลม เตียงลม แก้ปัญหาแผลกดทับ

ที่นอนลม หรือ เตียงลม เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาความทุกข์จากการเกิดแผลกดทับให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับตัวได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยนอนติดเตียง

ที่นอนลมแบ่งเป็นสองประเภทที่นิยมใช้กัน

  • ที่นอนลมแบบลอนขวาง: สามารถลดแรงกดทับได้ดีกว่า ลดโอกาสที่แผลจะสัมผัสกับผิวเตียงเป็นเวลานานๆ โดยใช้พลังงานปั๊มลมไฟฟ้าในการทำให้เตียงขยับตามช่วงเวลา
  • ที่นอนลมแบบรังผึ้ง: ที่นอนลมแบบรังผึ้ง มีลักษณะเหมือนบับเบิ้ล สามารถยุบได้หลายจุดสลับกันไปบนเตียง

นอกจากจะช่วยลดโอกาสเกิดแผลกดทับลงได้ส่วนหนึ่งแล้ว ยังดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลก็ยังต้องใส่ใจ และคอยพลิกตัวผู้ป่วยอยู่เสมอ

อาหารสำหรับผู้ป่วย

อาหารเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยควรให้ผู้ป่วยกินอาหารที่มีประโยชน์ หรือช่วยส่งเสริมการหายของแผล ได้แก่

  • โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เมล็ดถั่ว หรือผลิตภัณฑ์จากเมล็ดถั่ว เช่น เต้าหู้ นมถั่ว
  • แร่ธาตุสังกะสี ที่พบมากในปลา อาหารทะเล ไข่แดง
  • ธาตุเหล็ก พบในเนื้อปลา ผักโขม ผักคะน้า
  • วิตามินซี พบในผักผลไม้ เช่นส้ม ฝรั่ง บล็อกโคลี่
  • วิตามินเอ พบในมันม่วง มะละกอ แตงโม

ถ้าผู้ป่วยไม่สะดวกที่จะทานอาหารให้มากพอในแต่ละวัน อาจปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรตามร้านยา เลือกอาหารทางการแพทย์มารับประทาน

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วหรืออย่างน้อย 2,500 มิลลิลิตรต่อวัน เพื่อให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความการดูแลสุขภาพ