จุกหลอกเลือกอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย

จุกหลอกเลือกอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย

จุกหลอก เป็นตัวช่วยชั้นดีในการเลี้ยงทารกแรกเกิดที่พ่อแม่หลายคนเลือกใช้ เพราะจุกหลอกช่วยให้เด็กหยุดส่งเสียงร้องไห้งอแงและหลับง่าย แต่จุกหลอกที่วางขายในท้องตลาดนั้นมีมากมายหลายแบบ จึงอาจทำให้หลายครอบครัวที่เพิ่งมีลูกคนแรก สับสนไม่รู้ว่าต้องเลือกยังไง ถึงจะเหมาะกับการใช้งานและปลอดภัยสำหรับลูกน้อย วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ ในการเลือกจุกหลอกมาฝาก

 

อายุเท่าไหร่ควรใช้ตอนไหนควรเลิก

สำหรับช่วงอายุที่เหมาะสมในการให้ลูกเริ่มใช้จุกหลอกนั้นขึ้นอยู่กับว่าลูกดูดนมจากอกแม่ หรือดูดนมจากขวด

หากทารกดูดนมจากอกแม่ ก็ควรรอให้เด็กมีอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการดูดนมจากอกแม่ก่อน จากนั้นค่อยฝึกให้ใช้จุกหลอก

ถ้าเด็กดูดนมจากขวดนมตั้งแต่แรก ก็เริ่มฝึกให้ทารกใช้จุกหลอกได้ทันที เนื่องจากจุกขวดนมและจุกหลอกนั้นมีลักษณะคล้ายกัน

ผู้ปกครองควรให้ลูกน้อยเลิกใช้จุกหลอกตั้งแต่อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเด็กน้อยส่วนใหญ่มักเลิกใช้จุกหลอกไปเองเมื่ออายุ 2-4 ปี แต่หากพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้วหนูน้อยยังติดจุกหลอกอยู่ คุณพ่อคุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ปัญหา

 

วิธีเลือกจุกหลอกที่ใช่และปลอดภัย

ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนใส่ใจเป็นอันดับแรกเมื่อต้องซื้อของใช้ให้ทารก การเลือกจุกหลอกก็เช่นเดียวกัน ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ก่อนตัดสินใจซื้อจุกหลอกให้เจ้าตัวเล็ก

  • ขนาดที่พอเหมาะ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกจุกหลอกที่มีขนาดเหมาะสมกับวัยและขนาดของปากเด็ก หากจุกหลอกมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไปอาจทำให้เด็กสำลักได้
  • วัสดุที่เหมาะสม จุกหลอกทำมาจากวัสดุหลายชนิด ทั้งพลาสติก ซิลิโคน และยาง ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่ต่างกัน ผู้ปกครองควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน หากเด็กมีอาการแพ้ยาง ก็ควรเลือกจุกหลอกที่ทำจากวัสดุอื่นแทน
  • มีสีสัน การเลือกจุกหลอกที่มีสีสันโดดเด่นเห็นได้ชัดก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะช่วยให้สังเกตเห็นได้ง่าย ป้องกันจุกหลอกหล่นหายหรือหาไม่เจอ
  • มีรูระบายอากาศ รูระบายอากาศช่วยให้อากาศถ่ายเทมากขึ้นขณะใช้งาน ลดการสะสมของเชื้อโรคที่จุกหลอกซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้
  • ทำความสะอาด ควรเลือกจุกหลอกที่ทำจากวัสดุที่โดนความร้อนได้ และสามารถล้างทำความสะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างขวดนม
  • ปลอดสารบีสฟีนอลเอ (BPA) สารบีสฟีนอลเอ เป็นสารเคมีที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก ซึ่งสารดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อเจ้าตัวเล็กได้

 

ใช้จุกหลอกอย่างไรปลอดภัย

เมื่อทราบวิธีเลือกจุกหลอกที่ใช่และปลอดภัยสำหรับลูกน้อยแล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องรู้ก็คือ แล้วเราจะใช้จุกหลอกอย่างไรให้ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายกับตัวเด็ก โดยผู้ปกครองสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ไม่ควรใช้จุกหลอกของลูกร่วมกับเด็กคนอื่น
  • ล้างทำความสะอาดจุกหลอกเป็นประจำ โดยการต้มในน้ำร้อนอย่างน้อย 5 นาที
  • เก็บจุกหลอกให้ห่างแสงแดดและความร้อน และทำความสะอาดทุกครั้งก่อนใช้งาน
  • มีจุกหลอกสำรองไว้เผื่ออันที่ใช้อยู่หล่นหายหรือนำไปทำความสะอาด
  • เปลี่ยนอันใหม่ทุก 1-2 เดือน หรือเปลี่ยนเมื่อจุกหลอกเป็นรอย ฉีกขาด รั่ว ชิ้นส่วนหลวม มีกลิ่นเหม็น หรือบางจุดมีสีเปลี่ยนไป
  • หลีกเลี่ยงจุกหลอกที่มีชิ้นส่วนที่หลุดออกง่ายอย่างกากเพชร เพราะชิ้นส่วนดังกล่าวอาจหลุดเข้าปากหรือเข้าตาซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้
  • ไม่ควรเคลือบจุกหลอกด้วยของหวานหรือน้ำผึ้ง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก
  • หากลูกน้อยไม่ยอมใช้จุกหลอก อาจให้น้องลองหลายๆ แบบ เพื่อเพิ่มตัวเลือกและเพิ่มความน่าสนใจ หากเด็กไม่ยอมใช้จริงๆ ก็ไม่ควรฝืน
  • ไม่ควรใช้สายคล้องติดไว้กับจุกหลอก เพราะสายคล้องอาจพันคอเด็กจนเกิดอันตรายได้

บทความการดูแลสุขภาพ