
เริม เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) ซึ่งมี 2 ชนิด คือ HSV-1 และ HSV-2 เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้มีตุ่มใสขึ้นเป็นกลุ่มบนผิวหนัง ร่วมกับมีอาการปวด แสบ ร้อนบริเวณที่ติดเชื้อ เริมสามารถเกิดขึ้นได้หลายจุดบนร่างกาย เช่น ริมฝีปาก คอ ต้นขา และอวัยวะเพศ เป็นต้น โรคเริมสามารถรับมือได้หลายวิธี ทั้งการกินยาต้านไวรัส (มีทั้งยาใช้ภายนอกและยาแบบรับประทาน) และการดูแลตนเองโดยไม่ใช้ยา วันนี้เภสัชกรจะพาไปรู้จักกับวิธีรับมือโรคเริมที่ถูกต้อง พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ต้องทำอย่างไร อ่านบทความด้านล่างนี้เลย
เป็นโรคเริม ใช้ยาอะไรดี ?
การรักษาโรคเริมด้วยยาต้านไวรัสจะช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคได้ โดยยาต้านไวรัสสําหรับโรคเริมมีทั้งชนิดรับประทาน และยาใช้ภายนอก เช่น Acyclovir, Famciclovir, Ddocosanol, Valacyclovir รวมถึงยารักษาตามอาการอย่างยาบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเริม ส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ได้แก่ Aspirin, Acetaminophen, Ibuprofen และยาแก้ปวดชนิดที่ใช้ทาลงบนแผลเริม ได้แก่ Benzoyl Alcohol, Benzocaine, Dibucaine, Lidocaine
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็น “โรคเริม”
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี
- สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งโล่งสบายไม่อึดอัด เพื่อช่วยลดความอับชื้นและการเสียดสีที่บริเวณแผล
- ทำความสะอาดแผลตุ่มน้ำเบา ๆ ด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ลดการสัมผัส ไม่เกาบริเวณรอยโรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
การป้องกันโรคเริมกลับเป็นซ้ำ
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เริมกลับมาเป็นซ้ำ เช่น ความเครียด แสงแดด รอยถลอกและรอยขีดข่วน
- หากเริมเป็นซ้ำมากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือ เป็นเริมซ้ำและมีอาการที่รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
การป้องกันการแพร่เชื้อของโรคเริม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- ผู้ที่มีรอยโรคเริมที่อวัยวะเพศ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไปจนกว่าแผลเริมที่อวัยวะเพศจะหายสนิท
- เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่สู่คู่นอนได้ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ควรใช้ถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยต้องงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม เครื่องสำอาง แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฯลฯ
- หากตั้งครรภ์และสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจมีผลต่อทารกในครรภ์และในขณะคลอด
ถึงแม้ว่าจะหายจากโรคเริมแล้วก็ยังนิ่งนอนใจไมได้ เพราะโรคเริมสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากเมื่อเราได้รับเชื้อไวรัสแล้วเชื้อจะอยู่ในร่างกายของเราไปตลอดชีวิต หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือรับประทานยาต้านไวรัส ก็จะลดความรุนแรงของโรคและสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อได้ แต่เนื่องจากยามีผลข้างเคียงจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนรับประทานยานะคะ
ผู้เขียน
ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ
เภสัชกร
อ่านอะไรต่อดี ?
สมุนไพรรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน
เคล็ดลับ Save ผิวชะลอวัย ไม่ให้ ชราไว
3 วิธีกู้ผิวจาก “สิวที่หลัง” ไม่ต้องหาหมอ
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา Fascino ผ่านระบบเทเลฟาร์มมาซี เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพทุกช่องทาง
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999