กรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดจากการที่หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ กรดในกระเพาะจึงไหลย้อนมาที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการได้หลายรูปแบบ เช่น แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว จุกเสียดแน่น นอกจากนี้ กรดไหลย้อนยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ทั้งหลอดอาหารอักเสบ ไอเรื้อรัง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นมะเร็งหลอดอาหารได้เลย เรามาดูกันดีกว่าว่า อาการแบบไหนทีเป็นสัญญาณเตือนถึงกรดไหลย้อนบ้าง และเราควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรให้ห่างไกลโรคนี้
กรดไหลย้อนภัยร้ายใกล้ตัว
กรดไหลย้อนเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดัน บางคนต้องรีบทานอย่างรวดเร็วแล้วกลับมาทำงานต่อ บางคนเวลาน้อยจนต้องทานอาหารก่อนนอนอีก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นสาเหตุของกรดไหลย้อนทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เช่น ความอ้วน น้ำอัดลม สูบบุหรี่ ผลจากยาบางชนิด เป็นต้น
สัญญาณเตือนกรดไหลย้อน
อาการของกรดไหลย้อนนั้นไม่ได้เกิดแต่เพียงในระบบทางเดินอาหารเท่านั้น ยังสามารถเกิดกับระบบกล่องเสียง หลอดลม จมูก และหูได้อีกด้วย โดยแต่ละคนอาจมีอาการไม่เหมือนกัน เช่น
- แสบร้อนบริเวณหน้าอก ลิ้นปี่ จนถึงคอ
- รู้สึกแน่นคอ คล้ายมีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ
- เจ็บคอ แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
- มีเสมหะ หรือระคายคอตลอดเวลา
- รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก
- เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่คอ
- ท้องอืด แน่นท้อง
- จุกแน่นกลางอก คล้ายอาหารไม่ย่อย
- มีน้ำลายมากผิดปกติ
- มีกลิ่นปาก
- เสียวฟัน ฟันผุ
- เสียงแหบ
- ไอบ่อย
- ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือตอนนอน
- ไอ สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกตอนกลางคืน
- อาการหอบหืดที่เคยเป็นแย่ลง หรือใช้ยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น
- เป็นโรคปอดอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- เจ็บหน้าอก
- คัน จาม คัดจมูก มีน้ำมูก
- ปวดหู หูอื้อเป็น ๆ หาย ๆ
กรดไหลย้อนรักษาได้หลายวิธี
ถึงแม้ว่ากรดไหลย้อนจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับคนทุกช่วงวัย แต่ก็เป็นโรคที่รักษาได้หลายวิธีเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการวินิจฉัยของแพทย์ โดยวิธีรักษากรดไหลย้อน มีดังนี้
- รับประทานยารักษากรดไหลย้อน ตัวยามีหลายชนิด เช่น ยาลดกรด ยายับยั้งการหลั่งกรด ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- รับประทานพรีไบโอติก เพราะมีสารอาหารสำหรับแบคทีเรียดีในลำไส้ของคน ทำให้อิ่มง่าย ลดความเสี่ยงต่อการทานมากเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของกรดไหลย้อน
- การผ่าตัด สำหรับผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนขั้นรุนแรง และรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่หาย แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดรักษาหูรูดหลอดอาหาร ป้องกันกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาอีก
นอกจากการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เรายังสามารถป้องกันและลดโอกาสการเกิดกรดไหลย้อนได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ลดความเครียด รับประทานแต่พอดี สวมเสื้อผ้าที่พอดี ไม่แน่นเกินไป ไม่นอนทันทีหลังทานอาหาร งดสูบบุหรี่ เป็นต้น
ขอบคุณภาพจาก freepik.com