ยากรดไหลย้อน มีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร

ยากรดไหลย้อน มีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร

หากพูดถึงปัญหาสุขภาพของชาวออฟฟิศในยุคนี้ “โรคกรดไหลย้อน” คงมาเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอน หนึ่งในสาเหตุของโรคนี้มาจากพฤติกรรมบางอย่างไปกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น เครียดบ่อย กินเยอะ กินแล้วนอนทันที หรือติดน้ำอัดลม เป็นต้น

กรดไหลย้อนนั้นรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมหรือกินยา แต่ยารักษากรดไหลย้อนนั้นมีหลายประเภท บางคนอาจไม่รู้ว่ายาแต่ละชนิดนั้นต่างกันอย่างไร มีข้อควรระวังหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปดูกัน

 

ยารักษากรดไหลย้อนมีกี่ประเภท

ยารักษากรดไหลย้อนนั้นมีกลไกการออกฤทธิ์หลายรูปแบบ บางชนิดไม่ได้ไปลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยตรง แต่ตัวยาจะมีความเป็นด่างอ่อน ๆ ไปเจือจางกรดในกระเพาะอาหารให้เบาบางลง ส่วนยาบางตัวอาจมีส่วนผสมของยาชนิดอื่นอยู่ด้วย เช่น ยาแก้ท้องอืด ยาขับลม ยาขับแก๊ส เป็นต้น โดยเราสามารถแบ่งยารักษากรดไหลย้อนออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ดังนี้

อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

เป็นยาที่ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุก เสียด แน่น แสบร้อนกลางอก ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์เร็ว ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อย และออกฤทธิ์เฉพาะที่ จึงไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่าง ภายในร่างกาย แต่ข้อเสียคือยาออกฤทธิ์สั้น ตัวยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซอาจทำให้ท้องผูก ส่วนตัวยาแมกนีเซียมไฮดร็อกไซด์อาจทำท้องเสียได้ ไม่ควรทานต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ และไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ

โซเดียมไบคาร์บอเนตหรือโซดามินท์

ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์เร็ว เหมาะสำหรับการใช้รักษาอาการกรดไหลย้อนกำเริบหรือผู้ที่มีอาการกรดเกิน แต่มีข้อเสียคือตัวยามีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย มีผลทำให้เลือดและปัสสาวะมีความเป็นด่างสูง จึงควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นประจำ

กรดอัลจินิกหรือโซเดียมแอลจิเนต

ตัวยาเป็นสารกลุ่มเดียวกับแป้ง เมื่อไปสัมผัสกับกรดจะเกิดการพองตัวเป็นเจลเพื่อไปจับกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในกระเพาะอาหาร ช่วยลดการระคายเคือง แต่ตัวยามีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น และไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ไซเม็ททิโคนหรือไดเมทิลโพลีไซโลเซน

เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดที่มีสาเหตุมาจากแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ส่วนข้อเสียคือมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้น และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

ยาออกฤทธิ์ต่อเซลล์สร้างกรดหรือ PPIs

ตัวยามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร รักษาอาการกรดไหลย้อน กรดเกิน หลอดอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารและแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป เพราะยาจะไปลดการดูดซึมสารอาหาร และผู้ป่วยโรคไต สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้

ยาต้านการหลั่งฮิสตามีน

ยาต้านกรดไหลย้อนประเภทนี้มีข้อดีคือออกฤทธิ์นาน 12 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนตอนกลางคืน แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพราะยาต้านการหลั่งฮิสตามีนอาจทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย เวียนหัว หรืออาเจียน อีกทั้งยังไม่สามารถใช้ร่วมกันยาบางชนิดได้

ยากลุ่ม Potassium-Competitive Acid Blockers (P-CABs)

ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์โดยการไปยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทั้งยังออกฤทธิ์นานถึง 24 ชั่วโมง แต่ตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายรูปแบบ เช่น คลื่นไส้ เวียนหัว อาเจียน ท้องเสีย และไม่สามารถใช้ร่วมกับยาบางชนิดได้ ดังนั้น จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร

ตัวยาจะไปกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ลดอาการแสบร้อนกลางอก จุก เสียด แน่นท้อง ป้องกันอาการกรดไหลย้อนกำเริบ เหมาะสำหรับผู้ที่ระบบทางเดินอาหารทำงานช้ากว่าปกติ แต่การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะตัวยาชนิดนี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคปอด โรคไต และโรคหัวใจ อีกทั้งยายังมีผลข้างเคียงที่อันตราย เช่น ท้องเสีย เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่ปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

ยารักษากรดไหลย้อนมีกี่ประเภท

ขอบคุณภาพจาก freepik

 

ยาน้ำกับยาเม็ดอันไหนดีกว่ากัน

เนื่องจากยารักษากรดไหลย้อนนั้นมีทั้งแบบน้ำและแบบเม็ด จึงอาจทำให้บางคนเกิดความสงสัยว่า มันเหมือนกันหรือเปล่า แบบไหนดีกว่ากัน ? สำหรับด้านประสิทธิภาพ ยาทั้งสองแบบนั้นไม่ต่างกันเลย แต่จะต่างกันที่ความเร็วในการออกฤทธิ์ สำหรับยาแบบน้ำจะถูกดูดซึมได้เร็วกว่า ทำให้ออกฤทธิ์เร็วกว่า ส่วนยาแบบเม็ดออกฤทธิ์ช้ากว่า หากใช้วิธีเคี้ยวยาก่อนกลืนก็จะช่วยให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น

ยาน้ำกับยาเม็ดอันไหนดีกว่ากัน

ขอบคุณภาพจาก freepik

 

อย่าลืมปรับพฤติกรรมร่วมด้วย

การใช้ยารักษากรดไหลย้อนเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น หากเราไม่แก้ไขที่ต้นตอของปัญหา ยังใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ปัญหากรดไหลย้อนก็ยังคงวนเวียนกลับมาอีกอยู่ดี ดังนั้นจึงต้องมีการปรับพฤติกรรมบางอย่างร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อน เช่น

- ลดความเครียด
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป
- ไม่ใส่เสื้อผ้าที่คับหรือแน่นเกินไป
- ทานอาหารแต่พอดี ไม่มากเกินไปจนรู้สึกแน่นท้อง
- ไม่ควรทานอาหารก่อนเข้านอน ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน ฟาสฟู้ด
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เลิกสูบบุหรี่

โรคกรดไหลย้อนอาจดูไม่ร้ายแรงและสามารถจัดการได้ง่ายด้วยการปรับพฤติกรรมและการใช้ยา แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก็อาจพัฒนากลายเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ ดังนั้นใครที่กำลังเผชิญปัญหากรดไหลย้อนอยู่ควรรีบหาทางรักษาโดยเร็ว ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างรวมทั้งเลือกใช้ยาให้เหมาะกับตนเอง ก็จะช่วยให้กรดไหลย้อนไม่กลับมากวนใจบ่อยๆ

 

บทความการดูแลสุขภาพ