9 ปัญหาสุขภาพ โรคภัย ที่ควรระวังช่วงน้ำท่วม

9 ปัญหาสุขภาพ โรคภัย ที่ควรระวังช่วงน้ำท่วม

น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยแทบทุกปี แต่ในปีนี้เหตการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชัยภูมิเข้าขั้นวิกฤติ เพราะปริมาณน้ำมหาศาลที่ถาโถมเข้าสู่ตัวเมืองโดยที่ประชาชนไม่คาดคิดและไม่ได้เตรียมตัวรับมืออย่างดีพอ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่เพียงแค่ความเสียหายของทรัพย์สินเท่านั้นที่มากับน้ำ แต่ยังมีปัญหาสุขภาพอีกมากมายที่อาจมาพร้อมปริมาณน้ำที่มากจนระบายไม่ทัน

 

อันตรายที่มาพร้อมน้ำท่วม

น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่น่ากลัวและรับมือได้ยาก หากประมาทหรือวางแผนรับมือได้ไม่ดีพออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว อันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม หรือ น้ำมาก ที่พบเห็นได้บ่อยคืออุบัติเหตุที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

- จมน้ำ เนื่องจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจนมองไม่เห็นพื้นที่อาจมีระดับที่ไม่เท่ากัน การต้องเดินลุยน้ำท่วมจึงเสี่ยงต่อการลื่นหรือโดนน้ำพัดไปซึ่งเสี่ยงต่อการจมน้ำอย่างมาก

- ไฟรั่ว ไฟดูด ไฟดูดหรือไฟช็อตเป็นอุบัติเหตุที่อันตรายถึงชีวิตซึ่งสังเกตุเห็นได้ยาก หากมีไฟรั่วลงกระแสน้ำแล้วเราเดินลุยน้ำผ่านในระยะใกล้ ๆ อาจทำให้โดนไฟช็อตได้โดยไม่รู้ตัว

- สัตว์มีพิษกัดต่อย ไม่ว่าจะเป็นงู ตะขาบ และสัตว์มีพิษชนิดอื่น ๆ ถือเป็นอันตรายที่ต้องระวังในช่วงน้ำท่วม ซึ่งสัตว์ชนิดนี้มักซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดที่สังเกตเห็นได้ยาก หากไม่ระมัดระวังอาจโดนสัตว์พวกนี้ทำร้ายได้

- บาดเจ็บจากของมีคม ใครที่จำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นประจำต้องระวังให้ดี เพราะน้ำอาจพัดเอาเศษวัสดุหรือสิ่งของที่มีคมมาตกอยู่ระหว่างทางที่เรากำลังจะเดินผ่าน

 

9 ปัญหาสุขภาพช่วงน้ำท่วม

เมื่อเกิดน้ำท่วม นอกจากความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่เสียหายแล้ว อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่จะตามมาก็คือเรื่องของปัญหาสุขภาพ เพราะน้ำมักพาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคมาด้วยเสมอ โดยโรคและอาการป่วยที่อาจมากับน้ำท่วมมีหลายชนิด เช่น

1. น้ำกัดเท้า

น้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการที่เท้าต้องแช่น้ำหรือเปียกชื้นเป็นเวลานานทำให้เกิดเชื้อรา ส่งผลให้ผิวหนังระคายเคือง อักเสบ และเกิดอาการคันเท้าตามมา ช่วงน้ำท่วมจึงเสี่ยงต่อการเกิดน้ำกัดเท้าเป็นอย่างมาก

หากมีอาการพยายามอย่าเกาแผล ร่วมกับรักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงพื้นที่น้ำขัง หากจำเป็นให้ล้างเท้าทุกครั้งหลังจากเดินลุยน้ำ และเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว หรือไปพบแพทย์หากทำได้เพื่อรับยารักษา

2. ท้องร่วง

เมื่อมีน้ำท่วม น้ำมาก น้ำขัง สิ่งที่มากับน้ำก็คือสิ่งสกปรกและเชื้อโรค ซึ่งหากไม่รักษาความสะอาดให้ดี อาจทำให้หลายคนเกิดภาวะท้องร่วง คือมีอาการถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือด สาเหตุมาจากการสัมผัสกับน้ำไม่สะอาด หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

การป้องกันภาวะท้องร่วงทำได้โดยทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดเท่านั้น แต่หากไม่มีทางเลือกจริง ๆ ต้องดื่มน้ำท่วม ควรนำน้ำมาต้มให้สุกก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค

3. อาหารเป็นพิษ

การปรุงอาหารเป็นอีกปัญหาหนึ่งในช่วงน้ำท่วม ทำให้หลายคนต้องทานอาหารที่ไม่ต้องปรุงอย่างขนมปังหรืออาหารสำเร็จรูป ซึ่งบางครั้งอาหารชิ้นเดียวหรือกล่องเดียวอาจต้องแบ่งทานหลายมื้อ ทำให้อาหารมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคได้ จนเป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษในที่สุด

อาหารเป็นพิษคือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดบิด แต่อาการต่าง ๆ สามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ หากมีอาการนานกว่านั้นควรรีบไปพบแพทย์

4. ตาแดง

ตาแดงเป็นโรคติดเชื้อบริเวณดวงตาที่เกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งสถานการณ์น้ำท่วมยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยโรคตาแดงนั้นถือเป็นโรคติดต่อที่มีอาการหลากหลาย เช่น คันตา เคืองตา น้ำตาไหล มีขี้ตามากกว่าปกติ แต่อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองหากรักษาอย่างถูกวิธี แต่ถ้ามีอาการปวดตา ตามัว แพ้แสง ควรรีบไปพบแพทย์ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยพักสายตาบ่อย ๆ เช็ดตาด้วยสำลีชุบน้ำอุ่น และประคบด้วยผ้าเย็น

5. โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู หรือ Leptospirosis เกิดจากการสัมผัสเชื้อโรคหรือทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยเชื้อโรคดังกล่าวมาจากสัตว์หลายชนิด เช่น หนู แมว สุนัข วัว เป็นต้น โดยตัวผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เป็นไข้ ตาแดง เจ็บคอ ไอเป็นเลือด ท้องเสีย หากไม่รีบรักษาอาจทำให้ไตวาย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต

6. ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่คนไทยรู้จักดี มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ช่วงน้ำท่วมความเสี่ยงจึงสูงขึ้นเพราะยุงลายวางไข่ในน้ำขัง โรคไข้เลือดออกมีอาการคล้ายไข้หวัดจึงอาจทำให้สับสนได้ง่าย แต่หากผู้ป่วยมีรอยช้ำตามร่างกาย เกิดจุดแดง เลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดออกตามไรฟัน อาจเป็นสัญญาณของไข้เลือดออก ควรรีบพาไปพบแพทย์

7. ไข้มาลาเรีย

ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น เป็นโรคอันตรายที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เหงื่อออก หากผู้ป่วยเป็นเด็กอาจทำให้อวัยวะภายในล้มเหลวได้ หากสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการคล้ายไข้มาลาเรีย ควรรีบพาไปโรงพยาบาล

8. ไข้ไทฟอยด์

ไข้ไทฟอยด์เกิดจากแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่มีคนเป็นพาหะนำโรค แบคทีเรียชนิดนี้ปนเปื้อนในน้ำ อาหาร และอุจจาระ หากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้ปวดศีรษะ มีไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูก ม้ามโต เลือดออกในลำไส้ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างลำไส้ทะลุ หรือภาวะเลือดเป็นพิษได้อีกด้วย ดังนั้นหากเป็นไข้ไทฟอยด์ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

9. โรคเครียด

โรคเครียดอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากน้ำท่วมโดยตรง แต่ทรัพย์สินและบ้านเรือนที่เสียหาย รวมถึงความกังวลในสถานการณ์นั้นอาจทำให้เกิดความเครียดได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากมีความเครียดอย่างรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

รับมือน้ำท่วมอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโดยไม่ทันได้ตั้งตัว เราควรตั้งสติและอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อป้องกันโรคภัยต่างๆ

  • ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ
  • ล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารและขับถ่าย
  • หากฝุ่นหรือน้ำกระเด็นเข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด อย่าขยี้ตาห้ามทิ้งขยะหรือขับถ่ายลงใน
  • น้ำที่ท่วมขัง เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโรคหรือได้รับเชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าวได้หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ
  • ควรสวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันเชื้อโรคและของมีคม เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วให้รีบล้างมือและเท้าให้เรียบร้อย

แม้น้ำท่วมจะเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงและอันตรายก็จริง แต่เราก็สามารถวางแผนรับมือล่วงหน้าได้ด้วยวิธีต่างๆ ที่กล่าวไปในบทความ หากเรารู้ล่วงหน้าว่าในบริเวณที่เราอยู่อาศัยอาจมีน้ำท่วม เราควรเตรียมเก็บข้าวของไว้บนที่สูง เตรียมกล่องยาฉุกเฉิน เพื่อให้พร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่มาได้ทัน

บทความการดูแลสุขภาพ