ภาวะสมองเสื่อมเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของสมอง ทั้งความจำ การคิด การตัดสินใจ และผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งภาวะสมองเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราควรทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดีก่อน เผื่อในวันข้างหน้าประสบกับตัวเองหรือคนรอบข้างจะได้เตรียมรับมือได้ทัน
สมองเสื่อมคืออะไร
สมองเสื่อม (Dementia) คือกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดจากความบกพร่องหรือความเสื่อมของสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบความคิด ความจำ ความรู้ ความเข้าใจ การตัดสินใจ ฯลฯ ซึ่งอาการต่าง ๆ นั้นมีความรุนแรงจนถึงขั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่แล้วอาการสมองเสื่อมมักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สมองเสื่อมเกิดจากอะไร
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท หรือสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด โดยภาวะสมองเสื่อมนั้นมีทั้งแบบที่สามารถรักษาให้หายได้ และไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังนี้
สาเหตุจากความเสื่อมของระบบประสาท
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มนี้จะเกิดจากโรคทางระบบประสาทบางชนิด โดยผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ เช่น
- โรคอัลไซเมอร์
- โรคพาร์กินสัน
- โรคฮันติงตัน
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
สาเหตุจากโรคหลอดเลือด
ภาวะสมองเสื่อมรูปแบบนี้จะส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตในสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น เช่น
- ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดเป็นประจำ
- ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง
- สมองบาดเจ็บจากอุบัตเหตุต่างๆ เช่น ลื่นล้ม หัวกระแทก รถชน เป็นต้น
- เกิดการติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงโรคต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรควัวบ้า หรือโรคเอดส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ แม้ภาวะสมองเสื่อมบางครั้งอาจจไม่สามารถรักษาได้ แต่ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุบางประการก็สามารถรักษาให้หายได้ เช่น
- เนื้องอก
- โรคที่เกิดจากการดื่มสุราหรือการใช้สารบางชนิด
- ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง
- ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองชนิดความดันปกติ
- ภาวะขาดวิตามินบี 12
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ติดเชื้อ HIV
ปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม
รูปแบบการใช้ชีวิตรวมถึงโรคประจำตัวบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ เช่น
- อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น
- ประวัติคนในครอบครัว หากมีคนในครอบครัวมีภาวะสมองเสื่อม ก็จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- โรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ดาวน์ซินโดรม โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
- อาการทางสมอง เช่น สมองบาดเจ็บ หรือติดเชื้อในสมอง
- พฤติกรรมบางอย่าง เช่น รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ค่อยออกกำลังกาย สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก เป็นต้น
สัญญาณสมองเสื่อมอย่ามองข้าม
อาการของภาวะสมองเสื่อมนั้นมีได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค แต่อาการที่พบได้บ่อย ประกอบด้วย
การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด
- สับสน มึนงง
- คิดไม่ออก จำเส้นทางไม่ได้
- สูญเสียความทรงจำ
- สื่อสารลำบาก คิดคำพูดไม่ออก
- รับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนไม่ได้
- มีปัญหาด้านการใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา
- มีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนและการจัดการ
- การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่สัมพันธ์กัน
การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ
- บุคลิกเปลี่ยนไป แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม
- มีอาการวิตกกังวล หวาดระแวง
- กระสับกระส่าย ร้อนรน
- ประสาทหลอน
- มีอาการซึมเศร้า
สมองเสื่อมป้องกันได้ไหม
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกันสมองเสื่อมได้ แต่การกระทำบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวได้ เช่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรจัดพื้นที่ให้เหมาะสมกับการนอน ไม่มีเสียง แสง หรือสิ่งรบกวน หากใครที่มีปัญหานอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
- เลือกรับประทานอาหาร โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และโอเมก้า 3 จะช่วยบำรุงหลอดเลือดหัวใจ และอาจลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้
- เสริมวิตามินดี มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดน้อย จะมีความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้น สำหรับการได้รับวิตามินดีนั้นมีหลายช่องทาง ทั้งการรับประทานอาหาร รับประทานวิตามินเสริม และการให้ร่างกายสัมผัสแสงแดดก็ได้รับวิตามินดีเช่นเดียวกัน
- ฝึกการทำงานของสมองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้สมองได้ใช้งาน เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกมแก้ปัญหา เป็นต้น การฝึกสมองและความจำอาจช่วยชะลออาการสมองเสื่อมและช่วยลดอาการของโรคได้
- ออกกำลังกายและร่วมกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทั้งสองอย่างนี้อาจช่วยชะลออาการสมองเสื่อมและช่วยลดอาการสมองเสื่อมได้ สำหรับการออกกำลังกายนั้นควรทำให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
- เลิกสูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่นอกจากจะช่วยให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ขณะที่อยู่ในวัยกลางคนหรือเป็นผู้สูงอายุ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดได้
- หลอดเลือดหัวใจ อย่าให้เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอล โรคเบาหวาน และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- รักษาปัญหาทางจิต ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ควรเข้ารับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
- สูญเสียการได้ยิน ระวังสมองเสื่อม ผู้ที่มีปัญหาสูญเสียการได้ยิน จะมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป