ภาวะ CVS โรคสายตา ปัญหาชาวออฟฟิศ

ภาวะ CVS โรคสายตา ปัญหาชาวออฟฟิศ

ปวดตา แสบตา ตาแห้ง หรือความผิดปกติของดวงตา เป็นอาการที่หลายคนอาจคุ้นเคยดี เพราะทุกวันนี้มีหลายปัจจัยที่พร้อมทำร้ายดวงตาคุณ ทั้งจ้องจอคอมทั้งวัน ไถจอมือถืออัพเดทข่าว หรือดูซีรีส์แบบมาราธอน กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำกันจนเคยชินล้วนทำร้ายดวงตาของเราทั้งสิ้น สิ่งที่ต้องระวังคือความผิดปกติของดวงตาที่เกิดจากการจ้องจอนานนั้นเรียกว่าภาวะ Computer Vision Syndrome (CVS) ภาวะนี้คืออะไร ป้องกันได้หรือไม่ ติดตามได้จากบทความนี้เลย

 

Computer Vision Syndrome (CVS) คืออะไร ?

Computer Vision Syndrome (CVS) คือกลุ่มอาการผิดปกติด้านการมองเห็นที่เกิดจากการใช้สายตาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งการมองจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ได้หลายรูปแบบ ทั้งอาการที่เกี่ยวกับการมองเห็นและอาการปวดอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

 

อาการ CVS เป็นอย่างไร

อาการของภาวะ Computer Vision Syndrome (CVS) นั้นมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะมีอาการผิดปกติด้านการมองเห็น แต่บางครั้งก็อาจเกิดอาการปวดที่อวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ดวงตาได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างอาการของภาวะ CVS มีดังนี้

- ตาแห้ง
- ตาล้า
- คันตา
- ปวดตา
- ตาพร่ามองไม่ชัด
- เห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน
- ตาโฟกัสภาพยากขึ้น
- สายตาสั้น
- ปวดหัว
- ปวดคอ
- ปวดไหล่
- ปวดหลัง

 

CVS รักษาได้ไหม ป้องกันยังไง ?

ภาวะ Computer Vision Syndrome นั้นส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นานหลังจากเลิกมองจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าเลิกใช้จอแล้วอาการยังไม่หายไปหรือยังมีความกังวลอยู่ ก็สามารถไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษาได้ ซึ่งการรักษานั้นทำได้หลายวิธี เช่น รักษาด้วยการบำบัดสายตา รักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นต้น

สำหรับวิธีป้องกันภาวะ CVS ที่ดีที่สุดคือมองจอให้น้อยลง แต่ด้วยรูปแบบการทำงานในปัจจุบันอาจทำได้ยาก แต่อาจใช้วิธีอื่นช่วยแทน อย่างเทคนิค 20-20-20 คือ หลังจากมองจอ 20 นาที ให้พักสายตา 20 วินาที โดยให้มองไปที่ระยะ 20 ฟุตขึ้นไป ส่วนวิธีอื่นๆ ก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยมีตัวอย่างดังนี้

- กระพริบตาบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาขณะทำงาน ป้องกันอาการตาแห้ง หรือหยอดน้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา

- พักสายตา 15 นาที เมื่อจ้องจอครบ 2 ชั่วโมง โดยให้หันมองสิ่งของอย่างอื่นทั้งใกล้และไกล โดยระหว่างพักไม่ควรมองหน้าจอไม่ว่าจะเป็นจอคอมหรือจอมือถือ

- ปรับท่านั่งให้จอคอมพิวเตอร์ห่างจากดวงตา 20-28 นิ้ว ตั้งจอคอมให้ต่ำกว่าระดับสายตา 4-5 นิ้ว และเอียงจอขึ้น 10-20 องศา เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องก้มหรือเงยมากเกินไปเพื่อมองจอ

- ลดแสงสะท้อนกระทบหน้าจอที่รบกวนการมองเห็น โดยการปิดหน้าต่างป้องกันแสงจากภายนอก หรือเปลี่ยนหลอดไฟเพดาน เป็นต้น

- สวมแว่นที่มีค่าสายตาตรงกับตัวเอง ป้องกันการปวดตาและปวดหัว

- ปรับท่านั่งให้เหมาะสม และเลือกเก้าอี้ที่ช่วยซัพพอร์ทการนั่งทำงานเป็นเวลานาน

การทำงานที่ต้องจ้องจอเป็นเวลานานมักมีปัญหาสุขภาพเข้ามาก่อกวนอยู่เสมอ ทั้งปวดตา ปวดหัว ปวดหลัง ปวดคอ และโรคออฟฟิศซินโดรมทั้งหลายที่พร้อมเข้ามาทำร้ายหากเราไม่ใส่ใจตัวเอง

ดังนั้น เราจึงควรนำคำแนะนำในบทความไปปรับใช้เพื่อป้องกันภาวะ CVS และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันออฟฟิศซินโดรมและภัยสุขภาพอื่นๆ จากการทำงาน

บทความการดูแลสุขภาพ