ยาลดความอ้วน ภัยร้าย อันตรายถึงชีวิต

ยาลดความอ้วน ภัยร้าย อันตรายถึงชีวิต

ความอ้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัย Fitch Solutions บริษัทให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับมหภาคชี้ว่า ในช่วงปี 2010 – 2014 ประเทศไทยมีคนอ้วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 นับเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งในระยะหลังเริ่มมีเทรนด์ในการลดน้ำหนักมากขึ้น ทั้งวิธีการออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งวิธีที่อันตรายอย่างการใช้ “ยาลดความอ้วน” ซึ่งมีส่วนประกอบที่อันตรายหลายอย่าง

 

ส่วนประกอบของยาลดความอ้วน 

หลายครั้งที่เราเห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์หรือตามข่าวต่าง ๆ ถึงอันตรายของยาลดความอ้วนที่ทำให้ผู้ใช้ยาถึงกับต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาล หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นมีการเสียชีวิตจากการซื้อยาลดความอ้วนในอินเตอร์เน็ตมารับประทานเอง โดยส่วนประกอบหลักของยาลดความอ้วนเหล่านั้น ได้แก่ 

 

ยาลดความอยากอาหาร

  1. ยาที่ออกฤทธ์ในการกดประสาทส่วนกลาง ยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาเฟนเตอมีน (Phentermine) และแอมฟีพราโมน (Amfepramone) ซึ่งนอกจากฤทธิ์ในการลดความอยากอาหารแล้ว ยาทั้งสองชนิดยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา ได้แก่ นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ ปากแห้ง ใจสั่น คลื่นไส้ ท้องผูก และหากมีการใช้ยาในปริมาณสูงอาจทำให้สับสน ประสาทหลอน ก้าวร้าว คลื่นไส้ อาเจียน หรือชักได้ นอกจากนี้ หากหยุดยาทันทีอาจทำให้มีอาการถอนยาได้ โดยมีอาการคือ เกิดภาวะทางจิตอย่างเฉียบพลัน ประกอบด้วยอาการสับสน หวาดระแวง ประสาทหลอน ท้องเสีย ปวดท้อง หัวใจเต้นผิดปกติ
  2. ยาที่ยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทโมโนเอมีน ได้แก่ ยาไซบูทรามีน (Sibutramine) ผลข้างเคียงที่พบได้จากยานี้ คือ ปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องผูก สับสน อ่อนแรง เหงื่อออก ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ วิตกกังวล การรับรู้รสเปลี่ยนไป หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง แต่เดิมเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาและควบคุมโรคอ้วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน โดยจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการซื้อจากร้านขายยาเท่านั้น และมีการทดลองทางคลินิกพบว่า ยาไซบูทรามีน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้ง ๆ ที่มีผลต่อน้ำหนักที่ลดลง ไม่ได้ต่างจากคนที่ไม่ได้กินยามากนัก ในปี พ.ศ. 2553 ยาไซบูทรามีน จึงถูกเพิกถอนทะเบียนและถอนยานี้ออกจากตลาด เพราะผลข้างเคียงจากยานั้นอันตรายเกินไป ไม่คุ้มกับความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

ยาระบาย

ยากลุ่มนี้ไม่ได้ช่วยในการลดน้ำหนัก ยาถูกใช้เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับถ่ายบ่อยขึ้น โดยนอกจากจากทำให้ร่างกายเสียน้ำจากการขับถ่ายมากเกินความจำเป็นแล้ว การรับประทานยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายชินกับการใช้ยาและอาจต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นหากจะให้ช่วยในการระบาย

 

ยาขับปัสสาวะ

หากน้ำหนักลดลงเร็วอาจเป็นสาเหตุจากการที่มียาขับปัสสาวะผสมอยู่ ยาจะทำให้น้ำหนักลงเร็วจากการขับน้ำออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะจะใช้สำหรับลดน้ำหนัก แถมยังอาจส่งผลให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่เกินจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีอาการอ่อนเพลีย เป็นลมได้

 

ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร

เมื่อถึงเวลาที่กรดถูกหลั่งออกมาเพื่อย่อยอาหารแต่ไม่มีอาหารมาให้กรดย่อย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารได้ ยากลุ่มนี้จึงถูกใช้ร่วมเพื่อลดผลข้างเคียงจากการใข้ยากลุ่มลดความอยากอาหาร ซึ่งไม่ได้มีผลในการลดน้ำหนักแต่อย่างใด

 

ยาไทรอยด์ฮอร์โมน

ยากลุ่มนี้จริง ๆ แล้วใช้รักษาโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ แต่ถูกนำมาใช้ในยาลดความอ้วนเพราะมีผลในการเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย แต่ผลข้างเคียงของยาตัวนี้มีค่อนข้างมาก เช่น โมโหง่าย อุจจาระบ่อย ใจสั่น เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง

 

ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ

ตัวนี้เป็นยาที่ถูกใข้เพื่อลดผลข้างเคียงเรื่องอาการใจสั่นจากยากลุ่มลดความอยากอาหาร โดยผลข้างเคียงของยานี้ ได้แก่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม

 

ยานอนหลับ

ผลข้างเคียงจากยาลดความอยากอาหารที่เห็นได้ชัดคืออาการนอนไม่หลับ ในยาชุดลดความอ้วนจึงมักใส่ยานอนหลับไปเพื่อช่วยลดผลข้างเคียงในส่วนนี้ ซึ่งทำให้มีผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น กดการหายใจ ง่วงซึม เป็นต้น

 

ไม่ใช่ทางออกของปัญหา

สุดท้ายนี้ การใช้ยาลดความอ้วนไม่ใช่วิธีดูแลรูปร่างที่ยั่งยืน เพราะมีผลข้างเคียงแถมมาให้อีกมากมาย แล้วยังอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มกลับมามากกว่าเดิมหรือที่เรียกว่าโยโย่ได้อีกด้วย ดังนั้น ใครที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้เริ่มต้นจากการควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับตนเอง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ภญ.กมลชนก  ไทยเรือง

ภ.43404

ผู้เขียน 

บทความการดูแลสุขภาพ