ทำความรู้จักอาการ “PMDD” ขั้นกว่าของตัวแม่ อันตรายแค่ไหน

ทำความรู้จักอาการ “PMDD” ขั้นกว่าของตัวแม่ อันตรายแค่ไหน

เชื่อว่าคุณผู้หญิงส่วนใหญ่ ก่อนมีประจำเดือนมักมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวนง่าย หรือที่เรียกกันว่าอาการ PMS ซึ่งเป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนนั่นเอง แต่รู้หรือไม่ว่ามีอีกกลุ่มอาการหนึ่งคล้าย PMS แต่รุนแรงกว่าในด้านจิตใจและสภาวะอารมณ์ จนอาจมีความคิดฆ่าตัวตายได้เลย นั่นก็คืออาการ PMDD นั่นเอง อาการที่ว่านี้คืออะไร วันนี้เรามาทำความรู้จักโรคนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ

 

PMDD คืออะไร ?

PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) คือ กลุ่มอาการผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจอย่างรุนแรง ที่เกิดในช่วง 1 - 2 สัปดาห์ก่อนมีประจําเดือน ซึ่งอาการจะดีขึ้นและหมดไปภายหลังประจําเดือนมา อาจมีสาเหตุมาจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน มีการลดลงของสารซีโรโทนินในร่างกาย ที่สัมพันธ์กับภาวะทางอารมณ์/จิตใจ และความเครียด โดยอาการจะรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, การทำงาน และคนรอบข้างเลยทีเดียว 

 

ลักษณะอาการ PMDD

อาการ PMDD จะมีอาการทางร่างกายคล้ายกับอาการ PMS คือ ปวดท้องน้อย ปวดหลัง ท้องอืด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อ่อนเพลีย หิวบ่อย ตัวบวมมากกว่าปกติ แต่อาการที่โดดเด่นของ PMDD คือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะจิตใจและอารมณ์ เช่น มีอารมณ์แปรปรวณ หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล เศร้า หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

 

การป้องกันอาการ PMDD

สามารถป้องกันได้โดยเริ่มสังเกตอาการที่เกิดขึันช่วงก่อนมีประจำเดือนและจัดการรับมือกับอารมณ์ต่างๆไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ให้มากขึ้น, ลดอาหารประเภทหวานจัด เค็มจัด และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ชา, กาแฟ 

 

การรักษาอาการ PMDD

ถ้าอาการทานด้านอารมณ์เริ่มรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อคนรอบข้างอาจได้รับการรักษาด้วยยาในกลุ่มต้านเศร้าเพิ่มเติม เช่น ยาฟลูอ็อกซีทีน (Fluoxetine) ยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) และยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจรับประทานเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการทางอารมณ์ก่อนการเริ่มมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์ ตามการประเมินอาการของแพทย์



ถึงแม้ว่าอาการ PMDD จะพบได้น้อยเพียง 2 - 10% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือนเท่านั้น แต่อาการทางด้านอารมณ์รุนแรงกว่า PMS มาก แต่ก็ไม่จำเป็นว่าผู้ป่วยจะต้องพบแพทย์เสมอไป ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามที่เภสัชกรแนะนำ และสามารถรับมือกับอาการเหล่านี้ไม่ให้กระทบต่อชีวิตประจำวันได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ไม่ควรปล่อยไว้นะคะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการและรับการรักษาด้วยยาที่ถูกต้อง เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถบรรเทาอาการ PMDD ที่เกิดขึ้นได้แล้ว

 

 

ผู้เขียน

ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ 

เภสัชกร

บทความการดูแลสุขภาพ