
“อยากนอนแต่ก็นอนไม่หลับ หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ” ในปัจจุบันเป็นปัญหาที่พบได้มาก ซึ่งการนอนไม่หลับอาจเกิดจากโรคประจำตัว ปัญหาทางจิตใจ ความเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน จึงทำให้ทุกวันนี้ มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินที่อ้างว่าช่วยปรับการนอนหลับ วางขายอยู่มากมายบนอินเตอร์เน็ต แล้วผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีประโยชน์จริงไหม มีส่วนที่ต้องระวังหรือไม่ เภสัชกรมีคำตอบให้ในบทความนี้ค่ะ
เมลาโทนินคืออะไร
“เมลาโทนิน” เป็นฮอร์โมนในร่างกาย ที่มีส่วนในการควบคุมวงจรการหลับ - ตื่น โดยความมืดจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนิน และจะหยุดหลั่งเมื่อเจอแสง นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุว่า ทำไมเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน เราจึงรู้สึกง่วงนั่นเอง
เมลาโทนินเสริม เหมาะกับใคร ?
- คนที่นอนผิดเวลา ไม่สามารถนอนหลับได้ก่อน 2.00 น. และมักจะมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า
- คนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ
- คนที่ต้องทำงานเป็นกะ หรือเกิดภาวะเจ็ทแล็ก ที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนของเขตเวลา มักเกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน
- ผู้สูงอายุ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้เมลาโทนิน
- เมลาโทนินจะช่วยปรับเลื่อนเวลาเข้านอน เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่อง โดยควรรับประทานก่อนเข้านอน 2 - 3 ชั่วโมง
- หลังรับประทานเมลาโทนิน ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
- เมลาโทนินอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคลมชัก ความดันโลหิตสูง ภาวะซึมเศร้า หรือมีภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เมลาโทนิน
- ผลข้างเคียงจากการใช้เมลาโทนินมีหลายรูปแบบ เช่น ปวดศีรษะ มวนท้อง คลื่นไส้ วิตกกังวล หงุดหงิด อ่อนเพลีย หรืออาจทำให้อารมณ์แปรปรวนในระยะสั้นได้
นอกจากการรับประทานเมลาโทนินแล้ว เราควรปรับพฤติกรรมของเราร่วมด้วยเพื่อให้การนอนดีขึ้น อย่างการนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7 - 8 ชั่วโมงต่อวัน และปิดโทรศัพท์หรืออุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดก่อนเข้านอน อย่างน้อย 30 นาที ถือเป็นการช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอีกวิธีหนึ่ง
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร