เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะภายในร่างกายก็เสื่อมลงตามวัย ผู้สูงอายุจึงมักมีโรคประจำตัวหลายโรค บางรายต้องใช้ยาหลายชนิด ซึ่งการใช้ยาจำนวนมากนั้นถือว่ามีความเสี่ยง เพราะยาแต่ละตัวมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เสี่ยงต่อการใช้ยาเกินความจำเป็นและอาจเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายจากการใช้ยาผิดวิธี หรือเกิดอันตรายจากอันตรกิริยาระหว่างยาหรือที่เรียกว่า “ยาตีกัน” ได้ วันนี้เภสัชกรมีคำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุให้ใช้ยาอย่างปลอดภัยมาฝากกัน
ร่างกายที่เสื่อมลง ส่งผลต่อการใช้ยาอย่างไร
นอกจากความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงแล้ว สัดส่วนของน้ำและไขมันที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการละลายของยา อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตยังลดลง จึงกำจัดยาออกจากร่างกายได้น้อยลงอีกด้วย
ผู้สูงอายุ ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย
- สำหรับผู้ที่มีโรคเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ควรใช้ยาอย่างจำกัดและใช้เท่าที่จำเป็น
- ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษาหรืออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีขึ้นจนไม่ต้องใช้ยาเดิม โดยแพทย์จะมีการปรับชนิดยาหรือขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย
- รับประทานยาให้ถูกวิธี ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและไม่ควรเปลี่ยนแปลงวิธีการรับประทานยาเอง แม้ว่าผลการรักษาจะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะการปรับลดขนาดยาเองอาจไปลดประสิทธิภาพของยาจนไม่ได้ผลการรักษา หรือการปรับเพิ่มขนาดยาเองก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้
- หมั่นสังเกตอาการตนเอง ผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่าวัยอื่น ๆ เพราะร่างกายจะเสื่อมลงทุกระบบ เสี่ยงต่อการเป็นลม หกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงหากมีอาการถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะหรืออุจจาระมีสีคล้ำ ก็อาจเป็นสัญญาณของอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
- กลุ่มยาที่ผู้สูงอายุต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยานอนหลับ และยาคลายเครียด เพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน หกล้มง่าย อีกทั้งตัวยาแก้ปวดโดยเฉพาะยากลุ่มต้านการอับเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือไตวายได้ ดังนั้นหากเป็นผู้สูงอายุที่มีประวัติความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคไต ควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้
- นำยาที่ใช้อยู่มาด้วยทุกครั้งที่ไปพบแพทย์หรือเภสัชกร ยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกันจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอันตรกิริยาระหว่างยา (ยาตีกัน) ซึ่งจะทำให้ผลข้างเคียงจากยารุนแรงขึ้น หรือยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกันจะทำให้ประสิทธิภาพยาลดลง ดังนั้นจึงควรนำรายการยาหรือยาที่รับประทานทุกชนิดมาทุกครั้งที่พบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ปรับการใช้ยาหรือเวลาที่รับประทานยาให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกับยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ หากจำเป็นต้องรับประทานให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง
โรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน ฯลฯ จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพร่วมด้วยเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและจะทำให้สามารถควบคุมโรคหรืออาการได้ดีขึ้น เช่น งดอาหารรสจัด งดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้เขียน
สิราวรรณ ล้วนสุธรรม
เภสัชกร
หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ
- ปรึกษาง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอป ได้ที่ https://telepharmacy.fascino.co.th/
- Facebook : https://m.me/fascinohealthcarethailand
- Line : https://lin.ee/3mHf2nZ
- โทร : 02-111-6999