เคล็ดลับการเตรียมตัวไปเที่ยวบนพื้นที่สูง ให้ปลอดภัยไร้ปัญหาสุขภาพ

เคล็ดลับการเตรียมตัวไปเที่ยวบนพื้นที่สูง ให้ปลอดภัยไร้ปัญหาสุขภาพ

การท่องเที่ยวบนพื้นที่สูงได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาวประจำปี แต่เภสัชกรอยากให้ระวังปัญหาสุขภาพจากพื้นที่สูงด้วย เพราะการเดินทางบนที่สูงมากกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะมีก๊าซออกซิเจนในอากาศน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้นักเดินทางมีอาการเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ ความสูงที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1,000 เมตร อุณหภูมิจะลดลง 6.5 องศาเซลเซียส และได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเพิ่มขึ้นอีกด้วย วันนี้เภสัชกรมีเคล็ดลับในการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปเที่ยวบนพื้นที่สูงมาฝากกันค่ะ  

 

อาการเจ็บป่วยจากการเดินทางในพื้นที่สูง

เมื่ออยู่บนพื้นที่สูงความดันอากาศจะลดลง ทำให้มีอากาศเข้าสู่ปอดได้น้อยลง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง จนอาจส่งผลให้เกิดอาการต่อไปนี้

 

  • ปวดศีรษะจากความสูง มักจะปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง หรือปวดศีรษะด้านหน้า ในช่วงที่มีการไอ จาม หรือขยับตัว
  • โรคแพ้ที่สูง (High altitude sickness) โรคนี้จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย บางรายอาจมีอาการรุนแรงอย่างปอดบวมน้ำ หรือสมองบวมน้ำ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่สูง

  • เดินทางขึ้นที่สูงอย่างช้า ๆ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 1 - 2 วันแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูง
  • พัก 1 - 2 คืนที่ความสูงประมาณ 2,500 - 3,000 เมตร ก่อนเดินทางต่อ
  • หากเดินทางบนพื้นที่สูงมากกว่า 3,000 เมตร จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงไม่เกิน 500 เมตร/วัน และพัก 1 - 2 วัน เมื่อความสูงเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1,000 เมตร
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นไปนอนที่ระดับความสูงมากกว่า 3,000 เมตร
  • หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบเดินทางลงพื้นที่ต่ำทันที
    • รู้สึกไม่สบาย คาดว่าจะเป็นอาการแพ้พื้นที่สูง
    • มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ห้ามเดินทางขึ้นที่สูงกว่าเดิม ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้ยาที่มีฤทธิ์กดการหายใจ (ยานอนหลับบางชนิด)
    • ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น ปวดศีรษะรุนแรง เหนื่อยเพลียอย่างรุนแรง ออกแรงได้น้อยลง เหนื่อยมากขึ้น เดินเซ เห็นภาพซ้อน หายใจลำบาก มึนงง สับสน การตัดสินใจผิดปกติ ชัก หมดสติ

 

การใช้ยาเพื่อป้องกันและรักษาโรคแพ้พื้นที่สูง

สำหรับการป้องกันการเกิดโรคแพ้พื้นที่สูง และลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก่อนที่เราจะเดินทางขึ้นที่สูงกว่า 2,500 เมตร สามารถรับประทาน Acetazolamide 125 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนขึ้นพื้นที่สูง 1 - 2 วัน จนกระทั่งเดินทางถึงจุดสูงสุด แล้วรับประทานต่ออีก 48 ชั่วโมง หากเริ่มมีอาการให้รับประทาน Acetazolamide 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยให้ทานห่างกัน 8 ชั่วโมง แต่ระวังห้ามใช้ยาในผู้ที่แพ้ซัลฟา เนื่องจากยานี้มีส่วนประกอบของซัลฟา อาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากมีอาการปวดศรีษะ สามารถใช้ยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอล หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (์NSAIDs) ได้ 

 

จากข้อมูลที่เภสัชกรนำมาฝากกันในบทความนี้จะเห็นได้ว่า การเดินทางบนพื้นที่สูงกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งสภาพร่างกาย และอุปกรณ์สำหรับดูแลตนเอง รวมถึงยาพื้นฐานด้วย หากเป็นผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง เพราะอาจเกิดอัตรายจากการเดินทางขึ้นที่สูงหรือมีปัญหาจากการใช้ยาได้



ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ

บทความการดูแลสุขภาพ